ไม่ว่าคุณจะเป็นนักกีฬายิงธนูระดับ Olympic Recurve หรือเป็นผู้ที่เพิ่งหัดยิงธนูใหม่ ข้อผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นได้กับทุกคน แก้ไขปรับปรุงเพื่อให้ถูกต้องและพัฒนาเพิ่มคะแนนการยิงด้วยเทคนิค 5 ข้อ ที่แนะนำข้างล่างนี้
ถ้าคุณเคยเรียนการยิงธนูมา คุณอาจเคยได้ยินคนถาม “ทำไมลูกธนูของผมไม่เข้าตรงกลางหล่ะ?” ทุกลูกธนูที่ยิงออกไปถือเป็นโอกาสในการเรียนรู้การยิง ถึงกระนั้นมันก็คงจะเป็นความรู้สึกที่ ‘เยี่ยม’ ถ้าหากลูกจะเข้ากลางตำแหน่ง x ในวงเหลือง และก็คงรู้สึก ‘ดี’ ถ้ายิงให้ลูกเข้าวงเหลืองทุกครั้ง!
สำหรับลูกธนูที่ไม่เข้ากลางเป้า เราจะมาลองวิเคราะห์ข้อผิดพลาดที่นักธนูเผชิญอยู่ 5 ข้อ และวิธีที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดเหล่านี้
1. การยืนที่ ไม่คงเส้นคงวา
รูป: จาก KSLInternationalArchery.com. รูปนี้เป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะการ ‘ยืนเปิด’ (Open stance) หนึ่งในคุณลักษณะที่สำคัญที่สุดของท่าทางการยืน คือ ต้องมั่นคง และคงเส้นคงวา
ตำแหน่งเท้าที่ยืนของคุณเปลี่ยนแปลงตำแหน่งไปในแต่ละลูกที่ยิงหรือเปล่า?
ตำแหน่งการยืน – คือตำแหน่งที่คุณยืนวางเท้าลงไปในขณะยิง นี่ถือเป็นฐานรากของการยิง การยืนของคุณต้องมั่นคงและไม่เปลี่ยนแปลงทุกลูกที่ยิง
เพื่อทำให้มั่นใจว่าการยืนของคุณไม่เปลี่ยนแปลง ในขณะฝึกซ้อม ใช้เทปกาวสีติดมาร์คตำแหน่งยืนของฝ่าเท้าลงไว้ที่พื้นบริเวณเส้นยิง ถ้าหากคุณยืนในลักษณะแบบเปิด ติดมาร์คเทปสีตำแหน่งการวางเท้าและตำแหน่งปลายเท้า ทำอย่างนี้จะช่วยให้คุณสังเกตตำแหน่ง ทิศทางและลักษณะการยืนได้เหมือนเดิมในทุกลูกที่ยิง
จำไว้ว่าการยืนยิงของคุณไม่เพียงจะมีผลแค่ตำแหน่งการวางเท้าเท่านั้น แต่มีผลกับการถ่ายน้ำหนัก ในการทรงตัวให้อยู่กลางสมดุล ถ้าฐานรากการยืนของคุณให้แข็งแรงมั่นคง คุณก็จะมีเสถียรภาพมากขึ้น ยิงได้อย่างมั่นคงมากขึ้น
2. ลักษณะการหมุนของศอก
รูป: GeekDad.com – Jim MacQuarrie โค้ชสอนยิงธนูและนักเขียน ใช้รูปนี้เพื่อเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะตำแหน่งการหมุนข้อศอกที่เหมาะสม เปรียบเทียบระหว่างฮีโร่ Hawkeye และนักกีฬาเหรียญทองโอลิมปิก Brady Ellison
การหมุนศอกที่ถูกต้อง เป็นหนึ่งในเรื่องพื้นฐานการยิงธนู Recurve แต่ก็ถือเป็นเรื่องทักษะที่สำคัญที่สุดในการยิงธนูด้วย ที่กล่าวถึงนี้หมายถึง การหมุนศอกของแขนที่ถือคัน ให้หมุนขึ้นและลงตรงๆ ในช่วงขณะน้าวสายและปล่อยสาย
ถ้าหากศอกคุณไม่สามารถหมุนได้ตรง อาจจะก่อให้เกิดปัญหาได้หลายอย่าง รวมถึงการที่สายอาจตีแขนจนเป็นรอยม่วงเขียวช้ำ และลูกธนูที่ยิงจะเข้าตำแหน่งอีกด้านของเป้า เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาอย่างนี้
ต้องหมุนศอกให้ตรงก่อนที่จะยกคันธนูขึ้น หรือ น้าวสายธนู
โดยการจัดตำแหน่งแขนที่ถือคันธนูให้ถูกต้องตั้งแต่เริ่ม และคงสภาพ ตำแหน่งนี้ไว้ขณะยิง ร่างกายท่อนบนของคุณจะเป็นแนวตรงอย่างถูกต้อง ซึ่งจะส่งผลให้คุณยิงได้อย่างมั่นคง และตำแหน่งลูกธนูที่ปักเป้าจะรวมกลุ่มกันได้ดีขึ้น
3. การเกี่ยวสาย (ตำแหน่งนิ้วบนสายธนู)
รูป: นักกีฬาเหรียญเงิน Olympic – Jake Kaminski แสดงให้เห็นถึงการเกี่ยวสายยิงที่เหมาะสมถูกต้อง :แยกหนึ่งนิ้วเหนือลูกและสองนิ้วด้านล่าง โดยเน้นการจัดวางนิ้วที่ถูกต้องบนสายธนู
เมื่อคุณวางนิ้วลงบนสายยิง คุณเคยมองดูหรือเปล่าว่าวางไว้ตำแหน่งไหน? หรือคุณแค่ใช้นิ้วเกี่ยวสายแล้วขึ้นคันน้าวเลย?
การรีบวางนิ้วเกี่ยวสายเป็นหนึ่งในข้อผิดพลาดที่พบบ่อยที่สุดในการยิงธนู
เพียงใช้เวลาสักเสี้ยววินาที มองว่านิ้วของคุณอยู่ในตำแหน่ง ผลที่ได้อาจมีค่ายิ่งใหญ่สำหรับการยิงของคุณ
การเกี่ยวสายธนูด้วยลักษณะที่ต้องให้นิ้วเกร็งมากเกินไป หรือวางนิ้วผิดตำแหน่ง ก็อาจสามารถก่อให้เกิดปัญหาได้หลายอย่าง ซึ่งผลอาจจะมีตั้งแต่วิถีการยิงที่ทำให้พลาดเป้า ไปจนถึงการทำให้เกิดแผลพุพองที่นิ้วทำให้เจ็บปวดได้
ด้วยเหตุนี้ ตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณวางนิ้วถูกต้องถูกตำแหน่งลงบนสายยิงในทุกลูกที่ยิง ให้เหมือนกันทุกครั้งตั้งแต่คุณหัดยิงธนูมา และต้องให้แน่ใจด้วยว่าตำแหน่งมือที่วางบนสายธนูก็ต้องไม่เปลี่ยนแปลง การเกี่ยวสายยิงอย่างถูกต้องและไม่เปลี่ยนแปลงจะทำให้กลุ่มลูกที่พุ่งไปปักเป้ารวมกลุ่มได้ดี
4. ตำแหน่ง Anchor
รูป : ในรูปแชมป์ Olympic – Ki Bo Bae ของเกาหลีใต้ แสดงให้เห็นถึงการเข้าตำแหน่ง Anchor ที่แน่น มั่น ซึ่งนักกีฬายิงธนูระดับแนวหน้าทำกัน : น้าวสายธนูไว้ใต้คาง สำหรับนักยิงธนูมือใหม่หลายคนน้าวสายไว้ที่มุมปาก
สำหรับผู้หัดเริ่มยิงธนู การเข้าตำแหน่งจุด Anchor ที่เดิมได้อย่างสม่ำเสมอ ถือเป็นเรื่องที่ท้าทาย ตำแหน่งจุด Anchor เป็นจุดจุดหนึ่งบนหน้า – โดยปรกติจะเป็นบริเวณมุมปากหรือบริเวณใต้คาง ที่ที่ซึ่งคุณสามารถแตะสายยิงได้ทุกๆ ครั้ง
เพื่อที่ให้จะเข้าใจได้ว่า การเข้าตำแหน่งจุด Anchor ที่เดิม อย่างสม่ำเสมอ มีความสำคัญแค่ไหน ลองพิจารณาเปรียบเหมือนการทิ้งสมอเรือ : ก็เพื่อเป็นจุดช่วยยึดไม่ให้เรือลอยตามน้ำไป ทำนองเดียวกัน Anchor point ก็ช่วยผู้ยิงให้สามารถวางมือที่น้าวสายเข้าตำแหน่งจุดเดิมทุกครั้งทุกลูกที่ยิง ซึ่งจะทำให้ลูกธนูที่ถูกยิงออกไปคงทิศทางเดิมทุกครั้ง
คุณสามารถที่จะกำหนดตำแหน่งจุด Anchor ของคุณเอง ได้จากคำแนะนำของผู้สอน ส่วนที่สำคัญที่สุดคือการน้าวสายให้เข้าตำแหน่งนี้ทุกครั้ง ทุกลูกที่ยิง ถ้าคุณรู้สึกว่ามันเปลี่ยนไป ตำแหน่งไม่เหมือนเดิม ลองขอปรึกษาผู้ฝึกสอนของคุณดู หาเทคนิคหรือวิธีการที่จะทำให้คุณสามารถเข้าตำแหน่งนี้ให้ได้เหมือนเดิมทุกครั้ง
5. ยิงหย่อน
รูป : นักกีฬาคนพิการ Paralympic – Lee Ford เป็นตัวอย่างที่ดี ให้เห็นนักธนูที่น้าวสาย ‘ยิงอย่างมีพลัง’ มั่นคง ทุกครั้ง
‘ยิงหย่อน’ (Weak shot) ตรงกันข้ามกับ ‘ยิงอย่างมีพลัง’ (Strong shot)
ข้อผิดพลาดอีกข้อหนึ่งที่พบเห็นบ่อย ผู้ยิงธนูหลายๆ คนทำพลาด คือ ไม่ได้สำเร็จจบการยิงอย่างมีพลัง เข้มแข็ง
การเล็งที่เร็วรีบเกินไป บ่อยครั้งมักทำให้มีลักษณะ ‘ยิงหย่อน’ ส่วนผู้ยิงที่ผิดพลาดอีกพวกหนึ่ง ก็จะเน้นการเล็งมากเกินไป ใช้สติกับการเล็งจนทำให้คุณลืมที่จะใส่ใจมุ่งเน้นไปกับการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อที่ถูกต้อง
การยิงหย่อน อาจทำให้ลูกธนูเข้าตำแหน่งที่ต่ำลง หรือออก ซ้าย-ขวา ขึ้นอยู่กับผู้ยิงจะถนัดยิงด้วยมือซ้ายหรือมือขวา แต่ยังโชคดีที่การยิงหย่อนสามารถแก้ไขสถานะการณ์ได้ เพียงแค่ปรับศูนย์ชดเชย
เมื่อคุณน้าวสุดสายและพร้อมที่จะเล็ง พยายามมีสติกับการควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อตามที่ฝึกหรือเรียนมา เรื่องการเล็งเป็นเรื่องสำคัญก็จริง หากแต่มันต้องไปพร้อมกับการใช้กล้ามเนื้ออย่างถูกต้อง เพื่อให้ยิงได้อย่างเข้มแข็ง เต็มพลัง มั่นคง เต็มประสิทธิภาพ ที่เรียกว่า Strong release และตามด้วย Follow-through โดยการให้ความสนใจกับเทคนิคที่ถูกต้อง ในเวลาที่เหมาะเจาะ คุณจะยิงได้เต็มประสิทธิภาพ และลูกธนูก็จะเข้ากลุ่มได้แน่นขึ้น คงเส้นคงวามากขึ้น
เรียบเรียงจากบทความของ Archery 360