ข้อผิดพลาดที่ทำให้ลูกธนูออกนอกตำแหน่งเล็ง

หลายต่อหลายครั้งที่นักธนูยิงลูกธนูออกไปแล้ว ไม่เข้าตำแหน่งที่ต้องการ มันมีหลายปัจจัยที่เป็นสาเหตุให้ลูกธนูเข้าเป้าผิดตำแหน่งห่างออกไปมาก เท่าที่สังเกตและพอจะเห็นข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น เป็นข้อผิดพลาดที่เห็นได้บ่อยๆ หลายๆ ครั้ง ของผู้ยิงธนูแต่ละคน ไม่ว่าจะยิงปล่อยสายด้วยนิ้วกับคัน Recurve หรือยิงปล่อยสายด้วย Release กับคัน Compound

พอจะจำแนกออกเป็น 5 ลักษณะข้อผิดพลาด ที่เห็นเกิดขึ้นบ่อยขณะยิงธนู ซึ่งส่งผลให้ลูกออกนอกตำแหน่งที่ต้องการ

1. Bow Torque หรือแรงสะบัดของคันธนู

ในขณะที่น้าวสายยิง จะเกิดแรงกดบริเวณตำแหน่งมือที่จับคันธนู แรงกระทำของธนูย่อมส่งผลมาที่มือจับไม่ว่าจะในทิศทางขึ้น-ลง หรือ ซ้าย-ขวา นั่นแหละธนูของคุณกำลังส่งแรงสะบัดหรือแรง Torque

ข้อผิดพลาดที่เห็นกันบ่อยในหมู่นักธนูคือการกำคันธนูบริเวณมือจับเหมือนกับกำลังถือจับกำด้ามปืน และบีบไว้แน่นขณะยิง เราเรียกลักษณะอย่างนี้ว่า ‘Death Grip’ ซึ่งถ้ายิ่งกำแน่นเท่าไรก็จะรับแรงสะบัดหรือแรง Torque ไว้มากขึ้นเท่านั้น

สิ่งที่ถูกต้อง คือ คุณควรปล่อยให้มือที่จับคันอยู่ในลักษณะที่ผ่อนคลาย จัดวางตำแหน่งมือจับหรือ Grip ให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง ไม่กำ แต่เพียงให้ตำแหน่ง Grip สัมผัสกดลงบนฝ่ามือ นิ้วเพียงแค่ประคอง มือ และ แขน ดันออกไปในทิศทางของเป้า

2. แขนตกเร็ว

เรื่องนี้เป็นเรื่องแรงโน้มถ่วง ตลอดเวลาที่คุณถือคันธนูอยู่ในมือเล็งไปที่เป้า แรงโน้มถ่วงย่อมถ่วงคันธนูให้ต่ำลง
ถ้าคุณพยายามประคองจัดศูนย์เล็งให้เข้าตำแหน่งที่เป้านานเท่าไร นั่นก็คือคุณกำลังออกแรงต้านแรงโน้มถ่วงมากเท่านั้น

นักยิงธนูหลายคนลืมแรงที่เค้ากำลังต้านอยู่นี้ ทันทีที่พวกเขาปล่อยลูกธนูออกไป แขนที่ถือคันธนูจะปล่อยตกลงทันที ด้วยเหตุที่ลูกธนูยังไม่พ้นสาย แต่คันธนูถูกลดระดับลงก่อน เป็นผลให้ ลูกธนูเข้าตำแหน่งต่ำกว่าจุดที่เล็งไว้

วิธีหนึ่งที่จะแก้ปัญหานี้ได้คือ ต้องพยายามบอกตัวเอง ฝึกฝนตัวเอง พยายามให้แขนที่ถือคันธนูยังคงระดับ ไม่ปล่อยให้ตกเร็วทันที จนกว่าจะได้ยินเสียงลูกธนูกระทบเป้า

3. เพราะคุณมอง

มีคำกล่าวโบราณว่า “If you want to see a bad archery shot, look at it.”

ความหมายของมันก็คือ บางครั้งผู้ยิงใคร่อยากเห็นว่าลูกธนูของตนเองที่พุ่งออกไปตกกระทบเป้า มันเข้าตำแหน่งไหน ทั้งๆที่กระบวนการยิงธนูของเขายังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ ผู้ยิงอาจจะยืดคอ ชะโงก เพื่อละสายตาหลบออกจากสายธนู รีบมองไปยังเป้า หรือลดแขนที่ถือคันลงในทันที หรือดัน ดึงคันธนูที่อยู่ในมือให้หลบไปด้านข้าง เพื่อที่เขาจะได้มองเห็นเป้าในทันทีที่ปล่อยสายยิง จะรีบมองไปยังเป้าว่าลูกเข้าตำแหน่งไหน

ลักษณะใดลักษณะหนึ่งที่กล่าวมานี้ จะเป็นเหตุให้ลูกธนูไม่เข้าตำแหน่ง

ที่ควรทำคือ ดำเนินกระบวนการยิงธนูให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์อย่างถูกต้องก่อน แล้วคุณอาจจะไม่ต้องรีบมองไปที่เป้าก็ได้ เพราะลูกธนูของคุณจะเข้ากลางตำแหน่งที่เล็ง โดยไม่ผิดพลาด

4. สะดุ้ง หรือ กระตุก

ในขั้นตอนการยิงธนูที่ดี ร่างกายคุณต้องผ่อนคลาย กล้ามเนื้อหลังจะออกแรงบีบให้สะบักหลังเคลื่อนเข้าหากัน และแขนขวาที่ใช้น้าวสายปล่อยจะเคลื่อนที่ไปด้านหลังตรงๆ ในขณะที่แขนซ้าย ถือคันนิ่งๆ

อาการสะดุ้งเมื่อร่างกายและกล้ามเนื้อต่างๆ ของคุณเข้าสู่ช่วงที่เรียกว่า ‘คาดหวังในจังหวะปล่อยสาย’ คุณอาจจะกระตุก สะบัดมือที่ปล่อยสาย หรือ มือที่ถือคันจะกระดก หรืออาจจะเกิดพฤติกรรมคล้ายๆ กันนี้ทั้งสองแขนพร้อมๆ กัน ลักษณะอย่างนี้ทำให้ลูกธนูเข้าตำแหน่งห่างออกไปจากตำแหน่งที่เล็ง

5. มือดึงสาย

ในที่นี้ไม่ได้มีความหมายเหมือนกับ ‘น้าวสาย’แต่ในกลุ่มคนยิงธนูด้วยกันเรียกอาการลักษณะนี้ว่า ‘มือระเบิด’ หรือ ‘ปล่อยไม่ขาด’

ไม่ว่าจะเรียกอย่างไร ที่คุณใช้นิ้วน้าวสาย หรือปล่อยสายยิงด้วยนิ้ว พื้นฐานก็เหมือนกัน คือ คุณต้องการใช้นิ้วออกแรงเกี่ยวสาย น้าวสายให้เคลื่อนที่มาเพื่อที่จะปล่อยสาย ยิงธนูให้ลูกพุ่งออกไป

‘มือระเบิด’ เป็นลักษณะปล่อยสายอย่างผิดๆ ที่เห็นกันบ่อยครั้ง ไม่ว่าคุณจะน้าวสายเข้ามาเล็งในตำแหน่งไหน ตำแหน่งของมือที่น้าวสายมาด้านหลังอาจอยู่ในแนวเล็งที่ถูกต้อง แต่ขณะปล่อยสาย มือกลับเคลื่อนห่างออกจากบริเวณใบหน้า สายถูกปล่อยออกไปเหมือนกับคุณกำลังดีดสายธนู หรืออาจจะด้วยตำแหน่งการวางนิ้วบนสายในตำแหน่งข้อที่ลึกเกินไป เมื่อคุณปล่อยสาย สายจะอยู่ด้านข้างแทนที่จะอยู่ตรงแนวเล็ง มันย่อมส่งผลให้ลูกธนูพุ่งออกไปไม่ตรงแนว ทิศทางการเล็ง กับทิศทางการปล่อยสาย มันไม่สัมพันธ์กัน ผลของการยิงย่อมคาดเดาได้ลำบาก

เรียบเรียงจากบทความของ P.J.Reilly

error: เวปไซต์นี้ ป้องกันคัดลอกเนื้อหา !!