แนวทางการยิงธนู FIELD ARCHERY – ตอนที่ 2

เรียบเรียงจากบทความของ World Archery ที่ลงใน Archery 360

Field Archery เป็นการยิงธนูไปยังเป้าที่จัดวางในระยะที่ต่างๆ กัน (และมักจะไม่บอกระยะ) มักจะยิงกันในป่าและภูมิประเทศขรุขระ ถือเป็นชนิดกีฬาตามสิทธิ์ที่เหมาะสม การยิงในแบบนี้สามารถนำไปใช้เพื่อเป็นการปรับปรุงเทคนิคและความสามารถที่จำเป็นสำหรับ Bow Hunting ในบรรยากาศกลางแจ้งที่สมจริง

การจัดการแข่งขันยิงธนู Field Archery มักยึดตามกฎกติกาของ :

– International Field Archery Association (IFAA) หรือ
– World Archery Federation (WA หรือ FITA เดิม)

แต่บางครั้งก็ขึ้นอยู่กับผู้จัด เช่น

– สหราชอาณาจักรจะใช้ National Field Archery Society (NFAS) และ
– National Field Archery Association (NFAA) ซึ่งอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา

ขนาดของเป้า ระยะ และการแบ่งประเภท

แรกทีเดียว คุณจะสังเกตได้ว่าขนาดของหน้าเป้าระบุขนาดเป็น ‘เซนติเมตร’ ส่วนระยะที่ยิงไปยังแต่ละเป้าจะระบุเป็น ‘เมตร’ นั่นเพราะว่า World Archery ใช้ระบบเมตริกสำหรับการวัดในการยิงธนูแข่งขัน Field Archery เหมือนกับที่ใช้ในการแข่งขัน Olympic และ Paralympic

การแข่งขันนี้มีการจัดที่ค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์ มีลักษณะเฉพาะ หน้าเป้า ถึงจะดูคล้ายกับหน้าเป้าธนูที่ยิงใน Olympic แต่แต้มคะแนนจะเปลี่ยนไป และสีก็จะไม่เหมือนกัน : สีเหลืองซึ่งเป็นจุดกลางเป้าจะมี 2 วง และที่เหลือจะเป็นวงสีดำทุกวง แทนที่จะเป็นวงคะแนน 5 ถึง 10 คะแนน แต่จะเป็นคะแนน 1 ถึง 6 คะแนนแทน วง 6 คะแนนซึ่งมีวง X กลางเป้าและเรียงลับดับคะแนนลดหลั่นออกมา

หน้าเป้า Target ของ World Archery (FITA เดิม)

หน้าเป้า Field ของ World Archery (FITA เดิม)

หน้าเป้า Field ของ International Field Archery Association (IFAA)

ในการหาระยะที่คุณจะยิง คุณต้องตัดสินใจเลือกก่อนว่าจะยิงธนูประเภทไหน : Recurve, Compound, หรือ Barebow เพื่อที่คุณจะลงยิงในระยะที่ถูกจัดแบ่งไว้ตามประเภทของธนูที่ยิง

คุณจะรู้ได้ว่าคุณต้องยืนยิงตรงหมุดไหน โดยดูจากสีของหมุด หมุดสีแดงและสีน้ำเงินปักบนพื้นเป็นการระบุตำแหน่งยืนยิงไว้ในแต่ละเป้า สีน้ำเงินจะเป็นของผู้ยิงธนูประเภท Barebow และ สีแดงจะเป็นของประเภท Recurve และ Compound ไม่เหมือนกับการยิง Target Archery ซึ่งคุณวางตำแหน่งเท้าใดเท้าหนึ่งไว้อีกด้านของเส้นยิง แต่ในการแข่ง Field Archery คุณต้องวางเท้าทั้งสองข้างหลังหมุด

คุณจำเป็นต้องรู้ว่าการยิงในแต่ละชุดจะต้องทำอย่างไร คุณมีเวลา 3 นาที เพื่อที่จะคำนวณกะระยะที่จะยิงและยิงธนู 3 ลูกในแต่ละเป้า หน้าเป้าขนาด 20 ซม และ 40 ซม จะถูกติดเรียงบน Back Stop

การยิงหน้าเป้าที่เล็กกว่า ถึงจะเป็นเรื่องยากและถือเป็นความท้าทายความสามารถของผู้ยิง แต่ก็สร้างความสนุกสนานได้อีกด้วย

เมื่อถึงคราวที่ต้องยิง หน้าเป้า 20 ซม และ 40 ซม ผู้ยิงจะผลัดกันยิง ด้วยในแต่ละกลุ่มจะมีผู้ยิงกลุ่มละ 4 คน และต้องผลัดเปลี่ยนกันยิง เค้าจึงจัดระบบเพื่อให้สะดวกในการที่จะกำหนดว่าผู้ใดจะต้องยิงก่อน :
ผู้ยิงก่อน 2 คนแรกที่จะก้าวเข้าหมุดยิงก่อน จะถูกเรียกเป็นผู้ยิง A และ B
ผู้ยิง A จะยืนอยู่ด้านซ้ายมือของหมุด และ B จะยืนด้านขวาของหมุด ผู้ยิงทั้งสองคนจะยิงไปยังเป้าตามรูปด้านล่าง เช่นเดียวกันกับผู้ยิง C และ D เพียงแต่จะเริ่มก้าวเข้าสู่หมุดยิงหลังจากที่ผู้ยิง A และ B เสร็จสิ้นการยิงเป้านั้นแล้ว

เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น แค่จำไว้ว่าถ้าคุณเป็นผู้ยิงผลัด AB ก็จะเข้ายิงก่อน ถ้าเป็นผลัด CD ก็จะเข้ายิงทีหลัง คุณจะยิงเป้าขนาด 20 ซม และ 40 ซม (ตามรูป) ซึ่งจะมีการระบุไว้ว่ายิงเป้าไหน แต่สำหรับหน้าเป้าขนาด 60 ซม และ 80 ซม มันจะมีเพียงแค่หน้าเป้าเดียว ซึ่งเป็นเป้าขนาดใหญ่ติดไว้บน Back Stop ดังนั้นเมื่อถึงผลัดที่คุณต้องยิง ก็แค่ยิงไปที่เป้านั้นเป้าเดียว เล็งและยิงให้เข้าตรงกลาง

จะกะระยะอย่างไร

เมื่อยิงธนู FITA Field และใน Forest Round คุณต้องกะระยะเป้าที่จะยิงเอง ซึ่งเป้าที่กำหนดให้นั้น ผู้ยิงจะไม่มีโอกาสเห็น หรือรู้ระยะ หรือเคยยิงมาก่อน นี่คือที่สุดของความสนุกและท้าทายในการยิง Field

ถ้าหากคุณต้องการที่จะชนะในการแข่งขัน คุณต้องมีความสามารถในการกะระยะยิงในระดับที่ดีพอควร เพราะคุณจะต้องเจอคู่แข่งที่กะระยะเก่ง ในการแข่งขันอย่างแน่นอน

แต่อย่าเพิ่งถอดใจ นักยิงธนู Field ล้วนแล้วแต่เริ่มต้นหัดโดยการลอง และมันก็ไม่ได้ยากเย็นจนเกินไป คนส่วนใหญ่จะกะระยะได้ค่อนข้างใกล้เคียงมากขึ้น หลังจากที่ได้ลองสักสองสามครั้ง แต่ควรจำไว้ว่า ‘แม้แต่ผู้ช่ำชอง หรือจะเก่งแค่ไหนก็ตาม ก็ยังมีโอกาสที่จะพลาดท่าได้’ เพราะฉะนั้นอย่างเพิ่งท้อ!

เราอาจได้ยินนักธนู Target เตือนบ่อยๆ ว่า “การไปยิง Field อาจจะจบด้วย การยิงพลาดทุกเป้าและลูกธนูพังหมด – หรือคุณอาจจะเดินล้ม คันธนูกระแทกพื้น จากการเดินทางขรุขระ รกในป่า…” ถ้ากล่าวถึงปัญหาเรื่องยิงหลุดเป้า มันก็เกิดขึ้นได้กับทุกคน ซึ่งมีมานับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน – เรื่องการเดินลื่นล้มในทางขรุขระ รก คุณก็แค่ระวังให้มากขึ้น มันจะเกิดก็เกิด ใครจะไปห้ามได้

แต่อันที่จริง จะว่าไปแล้ว ผู้จัดการแข่งขันจะต้องพิจารณาและวิเคราะห์ให้ถ้วนทั่วก่อนแล้ว ไม่ได้ปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม จะหลีกเลี่ยงบริเวณหลังเป้าที่ไม่ดี ซึ่งอาจมีโอกาสทำให้ผู้ยิงยิงหลุดเป้าได้ง่าย เช่นมีกิ่งไม้มาบังด้านหน้าตำแหน่งเป้า หากเกิดการยิงพลาดหลุดเป้า ลูกธนูก็จะไม่เสียหายหรือสูญหาย และควรหลีกเลี่ยงพื้นที่ตั้งเป้า ตำแหน่งยืนยิงที่ลื่น หรือมีสิ่งแวดล้อม ภูมิประเทศที่ไม่ดี อันตราย ฯลฯ ถ้าจะให้ดีควรมีการเตือน หรือเขียนเตือนลงในกระดาษจดคะแนน แจ้งถึงสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงหรือระวัง จุดไหนบ้าง มีอะไรบ้าง ในระหว่างเดินเท้าจากเป้าสู่เป้า

จะเปรียบไปแล้ว การแข่งขันยิงธนู Field ไม่ได้มีอะไรแย่หรือแตกต่างไปจากเดินเล่นในสวน ในป่า หรือปีนเนินใกล้ๆ บ้าน ส่วนเรื่องลูกธนูหาย มันก็ไม่ใช่เรื่องอะไรที่จะแย่จนทำให้ไม่กล้ายิง Field!

มันมีเทคนิคมากมายหลายแบบที่จะนำมาใช้เพื่อกะระยะ แต่คุณต้องหัดและฝึกฝน ซ้อม ซ้อม และก็ซ้อม เพื่อให้เก่ง ให้ชำนาญ

วิธีหัดที่ดีที่สุด คือเดินเข้าไปในสวน และคาดคะเนระยะจากจุดยืนไปยังต้นไม้ หรือก้อนหินข้างหน้า แล้วนับจำนวนก้าวเพื่อเช็คระยะของตัวเอง

การลงแข่งขัน Field บ่อยๆ ให้เกิดความคุ้นชินกับเป้าที่ไม่ได้บอกระยะก่อนล่วงหน้า แน่นอนถือเป็นการช่วยฝึกได้เป็นอย่างดี

ผู้ยิงบางคนใช้วิธีง่ายๆ โดยการใช้ส่วนต่างๆ ของคันธนูหรืออุปกรณ์เป็นตัวช่วยเทียบ ไปเทียบกะขนาดกับวัตถุที่รู้ขนาดแน่ชัด วิธีนี้จะใช้ได้ผลก็ต่อเมื่อคุณต้องรู้ขนาดของวัตถุที่จะใช้เทียบด้วย (ยกตัวอย่าง เช่น ขนาดของ Back Stop หรือ ขนาดหน้าเป้า)

แต่ผู้ยิงธนูระดับแนวหน้าหลายๆ คน ยังว่าวิธีนี้ยังไม่แม่นยำพอ บ้างก็ว่าใช้วิธีนี้ไม่เป็น วิธีธรรมดาที่คุณเทียบขนาดของศูนย์เล็ง (หรืออาจใช้ขนาดของลูกธนู ฯลฯ) กับขนาดของหน้าเป้า ขนาดของ Back Stop หรืออะไรก็ได้ที่คุณรู้ขนาด ด้วยประสบการณ์คุณจะสามารถกะได้ว่าระยะห่างของเป้าเมื่อเอาศูนย์เล็งครอบลงไปแล้วอยู่ระยะประมาณเท่าไหร่ จะอย่างไร ไม่ว่าคุณจะใช้วิธีไหน คุณต้องฝึกจนถึงระดับที่เรียกว่ามั่นใจได้ : เราขอแนะนำ ให้คุณใช้ของเล็ก ๆ น้อย ๆ ทุกอย่าง!

หมายเหตุ : กฎกติกาเขียนไว้ชัดว่า ไม่อนุญาตให้ใช้ กล้องบอกระยะ (Range Finder) หรืออุปกรณ์ที่คล้ายกัน ถึงแม้จะไม่ได้เขียนแจ้งไว้ในกฎกติกาหมวดอุปกรณ์ ซึ่งก็หมายความว่า คุณไม่สามารถที่จะดัดแปลงส่วนใดใดของอุปกรณ์ธนูเพื่อใช้กะระยะ

การวินิจฉัยหน้าเป้า

การวินิจฉัยโดยการใช้ขนาดของคนเป็นตัวอ้างอิง

โดยการเปรียบเทียบกับขนาดของคนที่อยู่หน้าเป้า คุณพอจะจำแนกออกได้ว่าหน้าเป้านั้นมีขนาด 60 หรือ 80 ซม. โดยเปรียบเทียบขนาดที่สัมพันธ์กัน ลองดูรูปตัวอย่างประกอบ

การวินิจฉัยหน้าเป้าโดยใช้ขนาดของ Back Stop

มีแต่เพียงหน้าเป้าขนาดใหญ่อยู่ 2 ขนาดที่ค่อนข้างจะทำให้สับสนกัน เนื่องจากมันถูกติดไว้เพียงเป้าเดียวบน Back Stop ส่วนใหญ่ผู้จัดการแข่งขันจะใช้ Back Stop ขนาดเดียวกันตลอดการแข่งขัน ด้วยเหตุที่คุณทราบขนาดช่องว่างของขอบหน้าเป้า คุณก็สามารถระบุได้ถ้าคุณกำลังยิงหน้าเป้าขนาด 60 หรือ 80 ซม.

โปรดระวัง : ปัจจุบันผู้จัดการแข่งขันบางราย ใช้ Back Stop ที่มีขนาดต่างกัน!

การวินิจฉัยหน้าเป้าโดยการใช้แผ่นบอกหมายเลข

เนื่องด้วยขนาดของแผ่นบอกหมายเลขเป้าจะมีขนาดเดียวกันตลอดการแข่งขัน คุณก็สามารถจำแนกออกได้ว่าหน้าเป้ามีขนาด 60 หรือ 80 ซม. โดยเทียบขนาดกัน

ในภาพตัวอย่างข้างล่าง เราสามารถวางแผ่นบอกหมายเลข 3 แผ่นตลอดความยาวหน้าเป้า 60 ซม. ในขณะที่เราวางแผ่นหมายเลข 4 แผ่นตลอดความยาวหน้าเป้าขนาด 80 ซม.

ในกฎกติกา ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องวางแผ่นบอกหมายเลขแจ้งไว้บริเวณแนวที่วางเป้า สามารถกำหนดบอกหมายเลขไว้ ณ บริเวณตำแหน่งกำหนดหมุดยิงที่เดียว

วิธีในการกะระยะ

กะโดยความรู้สึก

การกะระยะโดยใช้ความรู้สึกหมายถึง คุณเรียนรู้ที่จะกะระยะโดยใช้ ‘ความรู้สึก’ ขนาดของหน้าเป้าสัมพันธ์กับระยะทาง เพื่อที่คุณจะทำวิธีนี้ได้ คุณต้องฝึกซ้อมอย่างมาก แต่ข้างล่างนี้คุณจะได้อ่านข้อแนะนำบางประการ :

-ตั้งหน้าเป้าขนาดต่างๆ กัน ในหลายระยะ (เริ่มต้นด้วยระยะที่ไกลสุด) ยิงไปยังเป้าเพื่อให้คุ้นชินกับขนาดต่างๆ

-ตั้งหน้าเป้าใน Field ลองกะระยะจากความรู้สึก ทดลองยิงออกไป แล้วค่อยนับก้าวเพื่อวัดระยะ

-พยายามจำระยะที่ไกลที่สุดสำหรับหน้าเป้าในแต่ละขนาด (ซึ่งความรู้สึกคุณอาจจะถูกหลอกได้ง่ายเมื่ออยู่ในการยิง Field Target จงพยายามมองให้เห็นเป็นจุดดีกว่าที่จะมองหน้าเป้าทั้งใบ)

ใช้วิธีดูหมุด

ในรูปตัวอย่างข้างล่าง ผู้ยิงคันธนูรอกทดกำลังรู้ว่าแนวเส้นสีน้ำเงินมีระยะไกลสุดที่ 45 เมตร จากหมุดไปถึงเป้า (ตามกฎกติกา) เขาเลยประมาณว่าจากหมุดแดงซึ่งห่างออกมาจากหมุดน้ำเงินอีก 5 เมตร เพราะฉะนั้นเขามั่นใจว่าระยะเป้าต้องอยู่ห่างไม่เกิน 50 เมตร

เนื่องด้วยระยะห่างมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ คือ 55 เมตร สำหรับนักธนูคนนี้ (ตามกฎกติกา) โดยการตั้งระยะศูนย์เล็งที่ 52.5 เมตร เขามั่นใจได้ว่าลูกธนูจะเข้าเป้า

เทคนิค 10 เมตร

ลองศึกษาดูว่าระยะ 10 เมตรมันแค่ไหน และลองในหลายๆ ภูมิประเทศ

-หาจุดไหนจุดหนึ่งที่เป็นระยะ 10 เมตรจากจุดที่คุณยืนอยู่ แล้วม้วนทบระยะไปเรื่อยทีละ 10 เมตรจนกระทั่งใกล้ตำแหน่งเป้า เพิ่มหรือลดระยะที่ขาดไป จำไว้ว่าถ้าคุณกะระยะขาดไป 1 เมตรในช่วงแรก คุณจะกะขาดไปทุกระยะที่ม้วนทบ

วิธีหาจุดกลาง

พยายามหาจุดกลางของระยะ กะระยะจากจุดที่ยืนถึงจุดกลาง แล้วเพิ่มระยะไปอีกเท่าตัว

จำไว้ว่า : ถ้าคุณกะระยะจุดกลางผิด ระยะที่เพิ่มขึ้นเท่าตัวก็จะผิดเป็นเท่าตัว

วิธีแบบนกฮูก

วิธีแบบนกฮูกจะเป็นประโยชน์เมื่อคุณไม่สามารถมองเห็นภูมิประเทศด้านหน้าของ Back Stopและใช้เทคนิค 10 เมตร, กับวิธีหาจุดกลางไม่ได้

– เริ่มแรกลองกะระยะไปถึงวัตถุอะไรบางอย่าง ที่อยู่ระหว่างตำแหน่งคุณยืนกับตำแหน่งเป้า (จะเป็นกิ่งไม้, พุ่มไม้, หรือแม้กระทั่งต้นไม้ที่ล้ม ก็ได้)

– สังเกตว่าสิ่งที่เรามองมันอยู่ในแนวไหนเมื่อเปรียบเทียบกับเป้า หรือส่วนใดใดของเป้า

– หมุนหันศีรษะไปทางด้านข้างซ้าย-ขวาในขณะที่จับตามองจุดใดจุดหนึ่งของสิ่งนั้นไว้ สังเกตว่าจุดที่มองนั้นเคลื่อนสัมพันธ์กับเป้าอย่างไร ถ้ามันเคลื่อนเล็กน้อยแสดงว่าระยะจากตำแหน่งสิ่งที่มองกับเป้าห่างกันไม่มาก แต่ถ้ามันเคลื่อนตามการเคลื่อนของศีรษะแสดงว่ามันอยู่ห่างประมาณครึ่งทาง และถ้ามันเคลื่อนตัวมากขึ้นแสดงว่ามันอยู่ไกลจากเป้ามากขึ้น

วิธีการฟัง

ถ้าคุณต้องยิงพร้อมกันกับผู้ยิงอีกคนหนึ่ง หลังจากที่ผู้ยิงคนนั้นยิงลูกธนูออกไปแล้ว ให้พยายามฟังเสียงเริ่มตั้งแต่ช่วงเวลาปล่อยลูกไปจนกระทั่งลูกธนูปะทะเป้า เทคนิควิธีนี้ต้องมีประสบการณ์อย่างมากแต่สามารถให้ผลที่ค่อนข้างแม่นยำ แต่เป็นที่รู้กันอยู่ว่าช่วงระยะเวลาที่ลูกธนูพุ่งออกไปจนปะทะเป้า ตัวแปรของมันก็ขึ้นอยู่กับน้ำหนักน้าวสายของธนูนั้นๆ และระยะห่างของเป้าที่จะส่งผลให้ลูกธนูใช้เวลาในการเดินทางได้เร็วแค่ไหนด้วย อย่างไรก็ตาม จงอย่าลืมว่าคุณมีเวลาเพียงไม่กี่นาทีในการที่จะยิงและต้องไม่ไปทำให้ผู้ยิงท่านอื่นล่าช้าไปด้วย

วิธีการเติมเพิ่ม

ถ้าคุณบังเอิญยืนยิงในพื้นที่ที่มีต้นไม้ รั้ว หรือพุ่มไม้ที่มีระยะห่างเท่าๆ กัน คุณก็สามารถกะระยะโดยการเพิ่มระยะของช่วงต้นไม้ หรือรั้วขึ้นไปที่ละช่วงจนถึงตำแหน่งเป้า

ใช้การอ้างอิงสิ่งที่อยู่ระหว่างระยะ

ผู้ยิงประมาณระยะ ระหว่างเป้ากับต้นไม้ 15 เมตร แล้วประมาณระยะ ระหว่างต้นไม้มาถึงจุดที่ตัวเองยืนอยู่ 20 เมตร ดังนี้ระยะรวมน่าจะอยู่ประมาณ 35 เมตร

เราจะเลี่ยงการถูกหลอกในการกะระยะได้อย่างไร

ถ้าคุณยืนอยู่ในที่สว่างโล่งแจ้ง และกำลังจะยิงเป้าที่อยู่ในที่ร่ม ล้อมรอบไปด้วยแสงน้อย คุณจะประมาณระยะไกลเกินกว่าที่มันเป็น

แต่ถ้าคุณยืนอยู่ในที่ร่ม มีแสงน้อย และกำลังจะยิงเป้าที่อยู่ในที่มีแสงสว่างโล่งแจ้ง คุณจะประมาณระยะใกล้เกินกว่าที่มันเป็น

เมื่อต้องยิงบนพื้นที่เปิด หรือข้ามน้ำ สายตาคุณอาจหลอกได้ทั้งสองทาง แต่ปรกติคุณจะกะระยะใกล้เกินกว่าที่เป็น

ถ้าตำแหน่งเป้า วางอยู่ระหว่างช่องแนวต้นไม้ สายตาคุณจะทำให้เชื่อว่ามันอยู่ไกลเกินกว่าที่มันเป็น

ถ้าคุณต้องยิงข้ามหุบ คุณจะกะระยะไกลเกินกว่าที่มันเป็น

ถ้าคุณจะต้องยิงเป้าที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่คุณไม่เห็นพื้นดินรอบ Back Stop คุณมักจะกะระยะไกลเกินไป

เป้าที่วางอยู่ในตำแหน่งลาดลงเนินโดยปรกติจะถูกกะระยะไกลเกินจริง ถึงแม้ว่าคุณจะกะระยะศูนย์เล็งเผื่ออีก 2-3 เมตรแล้วก็ตาม

พยายามกะระยะตามแนวเส้นขอบฟ้า ปรกติมันจะให้การมองของคุณเพื่อในมาใช้กับระยะศูนย์เล็งได้ถูกต้องกว่า

เป้าที่วางอยู่ในตำแหน่งเอียงขึ้นเนินโดยปรกติจะถูกกะระยะใกล้เกินจริง ถึงแม้ว่าคุณจะกะระยะศูนย์เล็งเผื่ออีก 2-3 เมตรแล้วก็ตาม

ในการเล็งยิงตำแหน่งขึ้นเนิน และ ลงเนิน แรงโน้มถ่วงมีผลกับการพุ่งไปในอากาศของลูกธนู และด้วยเหตุผลนี้การกะระยะต้องเผื่อให้ด้วย

เราต้องใส่ใจกับมุมมองในตำแหน่งของเป้า รูปประกอบข้างล่างนี้แสดงให้เห็นมุมมองจากตำแหน่งที่ยืนอยู่บนเนิน รูปบนจะเห็นหน้าเป้าในลักษณะเต็มใบ ในขณะที่รูปล่างหน้ามุมมองจะทำให้เห็นส่วนล่างของหน้าเป้าสอบแคบลง แต่ตามกฎของ FITA มีกำหนดให้ตั้งตำแหน่งมุมมองของ Back Stop ไว้

เพื่อเป็นประสบการณ์ในการฝึกซ้อม ผู้สนใจยิง Field ควรผนวกเทคนิควิธี ในสภาวะต่างๆ ตามที่ได้อธิบายไว้มาใช้

การหาระยะ

ในการยิง Field Archery ส่วนที่สำคัญที่สุดของเทคนิคการยิง คือ การกะประมาณระยะยิงที่ถูกต้องไปยังเป้าที่ไม่มีการแจ้งระยะ เพื่อที่จะต่อสู้แข่งขันกันกับผู้ยิงที่มีฝีมือได้ไม่สามารถปล่อยให้ความรู้ในเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับเพียงแค่การใช้สัญชาตญาณหรือการประเมินภูมิประเทศของคุณเท่านั้น ด้วยวิธีการเหล่านี้ยังไกลเกินกว่าที่จะให้ผลที่ถูกต้องแม่นยำ และอาจทำให้คุณเสียคะแนนในจุดสำคัญๆ ไป ผู้ยิงธนู Field จะต้องหาเทคนิควิธีของตัวเองเพื่อที่จะหาระยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเขาจะต้องฝึกฝนฟอร์มการยิงในส่วนนี้ วิธีที่ให้ผลได้แม่นยำที่สุดคือการใช้พื้นฐานทางเรขาคณิต ซึ่งแสดงอยู่ด้านล่างนี้

วิธีส่วนใหญ่ ถึงจะไม่ใช่ทั้งหมด จะขึ้นอยู่กับการประยุกต์ใช้ทฤษฎีเรขาคณิต Thales Theorem ซึ่งเราจะสามารถหาระยะที่ต้องการได้ ถ้าหากเรารู้:-

– ระยะจากตาที่มอง ถึงวัตถุที่ใช้วัดระยะ (ยกตัวอย่างเช่น ศูนย์เล็ง, สโคป, ที่วางลูกธนู, ฯลฯ) จุดใดจุดหนึ่งบนคันธนู เราเรียกว่าจุด d
– ซึ่งมีขนาดกว้าง a
– และความกว้างของสิ่งของที่เราเห็นมัน ซึ่งสามารถนำมาคำนวณได้ (ขนาดของสิ่งที่เห็นบนเป้า) เรียกว่า A
– ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเหล่านี้จะสามารถบอกระยะที่คุณยืนกับตำแหน่งเป้าได้ เรียกว่า D

 

โดยการถอดค่าความสัมพันธ์ : a / d = A / D

 

วัดขนาดของอุปกรณ์ใดใด ที่อนุญาตให้ใช้ได้ตามกฎกติกา เพื่อใช้เล็ง หรือใช้วางพักลูก ฯลฯ

เพื่อที่จะทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น และหลีกเลี่ยงการคำนวนทางคณิตศาตร์ในระหว่างการออกรอบยิงและเพื่อที่จะให้รู้ระยะตำแหน่งของเป้าได้อย่างสะดวก รวดเร็ว เท่าที่จะเป็นไปได้ ให้ใช้หลักการดังต่อไปนี้ :-

ถ้าขนาดความกว้างของอุปกรณ์ที่วัดได้ (เช่น ศูนย์เล็ง ฯลฯ) เทียบเท่ากับ 1 ส่วน 100 ของระยะจากนัยน์ตาถึงอุปกรณ์นั้นๆ (เช่น ขนาดของรูศูนย์เล็ง 8 มม. และระยะจากนัยน์ตาถึงรูศูนย์เล็งเท่ากับ 80 ซม.) หรือถ้าคุณสามารถปรับอุปกรณ์ ให้ได้ตรงตามค่าความสัมพันธ์ ดังนี้ค่าความสัมพันธ์จะเท่ากับ :

 

D = A * 100

 

ถ้าแทนค่า D เป็นเมตร และค่า A เป็น เซนติเมตร ก็จะเท่ากับ : D (เมตร) = A (เซนติเมตร) * 100

ดังนั้นระยะ (เป็นเมตร) ของ D, จะได้ค่าจากคำนวณโดยการวัดความกว้างอุปกรณ์ของเรา (เป็นเซนติเมตร) A ที่เห็นบนเป้า

การรู้ค่า A ล้วนขึ้นอยู่กับสมมติฐานที่เรารู้ขนาดของหน้าเป้าดีอยู่แล้ว

ยกตัวอย่าง ถ้าหน้าเป้าขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 80 ซม. A คลุมประมาณครึ่งนึงของหน้าเป้ากับอีก 1.5 ส่วน/10, เท่ากับ 40+8+4 = 52 ซม. เราก็จะพอสรุปได้ว่าระยะห่างถึงเป้าประมาณ 52 เมตร

ในอีกตัวอย่างนึง ถ้าเป็นหน้าเป้าขนาด 60 ซม. ผลการคำนวณเท่ากับ 30+6+3 = 39 ซม. และระยะห่างถึงเป้าประมาณ 39 เมตร ตามผลคำนวณค่าความสัมพันธ์ข้างต้น

การหาค่าความสัมพันธ์แบบวิธีง่ายๆ และสามารถใช้ได้ทันทีตามที่ได้กล่าวมานี้ มันก็ไม่สามารถที่จะนำมาใช้ได้ทุกครั้งเสมอไป นั่นทำให้ผู้ยิงต้องหาวิธีของตนเอง อย่างไรก็ดี เมื่อต้องการหาระยะยิงผู้ยิงส่วนใหญ่มักจะไม่มาคำนวณค่าตามแบบคณิตศาสตร์ แต่พวกเขามักใช้การเทียบเคียงโดยอาศัยประสบการณ์บนพื้นฐานของหลักการตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น

มุมมองด้านหน้า: ศูนย์เล็งที่เห็นเมื่อเทียบกับหน้าเป้า
ตัวอย่างเช่นเมื่อคุณฝึกยิงจากระยะต่างๆ บนหน้าเป้าขนาดต่างๆ ด้วยการฝึกฝนคุณจะพบวิธีการเทียบเคียงขนาดของศูนย์เล็ง หรืออุปกรณ์อย่างอื่นอะไรก็ได้ ที่คุณสามารถมองเห็นได้ในขณะยกคันขึ้นเล็ง ขนาดที่เห็นเมื่อครอบหน้าเป้าหรือ Back Stop

ตามที่ได้อธิบายไว้ กระบวนการที่ต้องรู้ขนาดหน้าเป้า หรือ Back Stop เพื่อมาคำนวณ ส่วนการแยกแยะหน้าเป้าระหว่างขนาด 20 ซม หรือ 40 ซม สามารถบอกได้โดยไม่มีปัญหาเพราะรูปแบบการวางเป้าทั้ง 2 แบบต่างกัน แต่ถ้าคุณผิด คิดว่าหน้าเป้า 80 ซม เป็น 60 ซม หรือจะกลับกัน ผลที่ได้จะทำให้คุณผิดในการประมาณระยะไป 10 – 15 เมตร ความผิดพลาดอาจจะทำให้คุณสูญเสียคะแนนที่สำคัญไป มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ในการประเมินระยะสนามยิง และประสบการณ์ของคุณหรือการรู้โดยสัญชาติญาณเท่านั้นที่จะช่วยคุณได้ นอกเหนือจากการศึกษา สังเกต จุดใดๆ บนหน้าเป้าหรือ Back Stop เพื่อที่จะทำให้คุณเห็น และแยกแยะข้อแตกต่างนั้นๆ ได้ (เช่น ขนาดของตัวอักษร, ขนาดของกรอบ, ฯลฯ)

ในกฎของ FITA ระบุไว้ชัดว่า ไม่อนุญาตให้ใช้อุปกรณ์ Range Finder หรือเครื่องบอกระยะ และยังระบุด้วยว่าผู้ยิงไม่ควรใช้อุปกรณ์ของเขาเป็นไปในการอื่นมากกว่าที่ใช้เพื่อยิง ซึ่งหมายความว่าคุณไม่ควรยกคันเล็ง ทำเป็นว่าจะยิงแต่กลับไปใช้วัดระยะ แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าการพยายามห้ามไม่ให้วัดโดยการใช้อุปกรณ์ใดๆ นั้นเป็นไปไม่ได้ แต่กฎพยายามที่จะห้ามและกันไม่ให้การใช้ Range Finder มีปรากฏในการแข่งขัน Field Archery ของ FITA นี่เองที่ทำให้กฎจะอนุญาตให้คุณใช้วิธีการต่างๆ ในการเทียบเคียงมากกว่าที่จะให้คุณนำอุปกรณ์มาเป็นสิ่งช่วยวัดแทน Range Finder
ก่อนหน้านี้ในอดีต มันมีกฎว่า ถ้าคุณเริ่มยกคันน้าวสายเล็งไปที่เป้าแล้ว และก่อนที่ลูกธนูลูกแรกของคุณถูกยิงออกไป จะไม่อนุญาตให้คุณลดคันเพื่อปรับศูนย์เล็งอีก แต่กฎนี้ได้ถูกเปลี่ยนไปเพราะมันกลับสร้างปัญหามากกว่าแก้ปัญหา

เพราะฉะนั้น เพื่อที่จะไม่ให้ถูกกรรมการห้ามหรือถูกรบกวนจากผู้แข่งขันท่านอื่น คุณควรจะยกคันธนูโดยทำเหมือนกับจะยิง แต่ให้ใช้ช่วงจังหวะนั้นวัดและกะระยะ ด้วยวิธีนี้คุณไม่ได้ทำผิดกฎ และด้วยกฎกติกาในปัจจุบันไม่มีใครจะมากต่อว่าคุณได้

ไม่ต้องรู้สึกผิดหวัง มันเป็นเรื่องปรกติซึ่งต้องใช้เวลาและการฝึกฝน และเมื่อถึงวันนั้นคุณจะหาวิธีการของคุณเองได้และขณะเดียวกันจะมาพร้อมกับคะแนนของคุณที่ดีขึ้น

บทสรุป

ตามที่เคยได้แจ้งไว้ก่อนแล้ว ผู้ยิงที่มีประสบการณ์อาจใช้วิธีละนิด ส่วนละหน่อย จากเทคนิคที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด

พยายามที่จะประมาณระยะที่ไกลที่สุดที่คุณคิดว่ามันควรจะเป็น ค่อยมาระยะที่ใกล้ที่สุด แล้วหาจุดกลางระหว่างไกลกับใกล้และเพิ่มเผื่อไปอีกเล็กน้อย…(เช่น ระยะไกลสุดที่คุณคิดไว้คือ 50 เมตร ระยะใกล้สุดอาจเป็น 40 เมตร ค่ากลางคือ 45 เมตรและเพิ่มเผื่อขึ้นอีกสัก 2 เมตร ลองตั้งศูนย์เล็งไว้ที่ 47 เมตร แล้วลองยิงดู) หวังว่าลูกธนูคุณคงปะทะเป้า หรืออย่างน้อยก็ใกล้พอที่จะให้คุณได้คะแนนบ้าง

ข้อแนะนำเล็กๆ น้อยๆ ที่ควรจำ


– คุณอาจหลงกับขนาดของเป้า Field ระหว่างขนาด 60 ซม. และ 80 ซม. และทำให้เข้าใจผิดในการกะระยะ พยายามจำขนาดของจุด หรือถ้าเป็นไปได้ ดูขนาดไปเปรียบเทียบขนาดกับเป้าในกลุ่มที่ยิงเป้าถัดไป

– ระหว่างรอบยิง ให้จำหมายเลขของเป้ายิงที่ใช้ขนาดหน้าเป้า 60 ซม. และ 80 ซม. เอาไว้ นี่อาจเป็นการช่วยให้เราสามารถตรวจทานได้ในการยิงในรอบใหม่ หากยังคงไม่แน่ใจสงสัยอีกว่าเป็นขนาด 60 ซม. หรือ 80 ซม.

– อีกทั้งให้มองระยะของตำแหน่งหมุดยิงอื่นๆ ด้วย เนื่องจากมันสามารถช่วยคุณประเมินระยะมากที่สุดและน้อยที่สุดได้ ถ้าคุณยิงธนู Recurve และยืนอยู่ที่ 5 เมตรไกลกว่าตำแหน่งหมุด Barebow ระยะไกลสุดที่สามารถเป็นได้คือ 50 เมตร ไม่ใช่ 55 เมตร ผู้วางผังสนามที่เก่งและแยบยล อาจจะทำให้ดูซับซ้อนและยิงยากขึ้น โดยไม่กำหนดให้มีหมุด 2 หมุดในแนวเป้าเดียวกัน

– ในรอบยิงเป้าสัตว์ คุณจะรู้ระยะไกลที่สุดได้ง่าย แค่จำไว้ในใจ

– ในรอบยิงเป้าสัตว์ เส้นวงในจะเห็นได้ชัดถ้าเป้าอยู่ ‘ใกล้กว่า’ แต่ก็ต้องพิจารณาเรื่องภาวะแสงด้วย

– ถ้าคุณมั่นใจ (แน่ๆ) ว่า Back Stop ทุกอันมีขนาดเดียวกัน คุณอาจหาขนาดโดยการมองขอบขอบ Back Stop รอบแผ่นหน้าเป้า

– การฝึกหาระยะ ประมาณระยะ เมื่อคุณออกไปเดินเล่น มองหาจุด หรือสิ่งของ-ลองกะระยะ แล้วนับก้าวเข้าไป เพื่อหาระยะจริง ลองดูว่าถูกต้องแค่ไหน

– จำไว้ว่า Back Stop ที่ทำมุมกับ แนวที่มองเห็น จะดูเล็กกว่าที่เป็นจริง

– หมั่นฝึกฝน ฝึกซ้อม Field ของคุณโดยการยิงในระยะที่จัดเตรียมไว้ เมื่อยิงเข้าตำแหน่งกลางเป้า ให้ใช้ระยะศูนย์เล็งนั้นๆ ลองยิงตั้งแต่ระยะ 5 เมตรและเพิ่มขึ้นทีละ 5 เมตร หมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงของศูนย์เล็ง.

error: เวปไซต์นี้ ป้องกันคัดลอกเนื้อหา !!