อุปกรณ์ลั่นไก – คันธนูทดกำลัง

ในกีฬายิงธนู ประเภทคันธนูทดกำลัง (Compound) นักกีฬามักใช้เครื่องมือตัวหนึ่งช่วยเพื่อลั่นไก เรียกว่า ‘รีลีส’ (Release หรือ Mechanical Release) Release เป็นอุปกรณ์ช่วยที่ใช้ลั่นไก สามารถยิงลูกธนูได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น โดยการกดไกเพื่อลั่นปล่อยสายธนู ซึ่งให้ความแม่นยำกว่าการยิงด้วยนิ้วแบบเดิมๆ การใช้ Release ปล่อยสายธนูจะทำให้สายหลุดออกไปอย่างรวดเร็ว เร็วกว่าถ้าเทียบกับการปล่อยสายยิงด้วยนิ้ว การปล่อยด้วยอุปกรณ์นี้จะลดแรงกระทำของนิ้วกับสายธนูที่สะบัดตัวออก (ที่เรียกว่าแรง Torque) ในขณะที่สายถูกปล่อยหลุดออกจากมือ

การใช้

โดยทั่วไป นักกีฬายิงธนูประเภทคันธนูทดกำลัง (Compound) นิยมจะใช้รีลีสเกี่ยวรั้งสายธนู – น้าวสาย – เล็ง – และลั่นไกยิง ผลที่ได้จะมีความแม่นยำ แต่ถึงกระนั้น ก็ยังจะมีนักธนู Compound อยู่บ้างบางกลุ่มที่ยังคงนิยมการยิงด้วยนิ้ว โดยสวมถุงมือ หรือ มีแผ่นหนัง finger tabs รองนิ้ว โดยเฉพาะในกลุ่มนักธนูรุ่นเก่า ซึ่งคุ้นชินกับการยิงธนูโดยการปล่อยสายด้วยนิ้วกับธนูประเภท Recurve มาก่อน

รีลีสจะเกี่ยวล็อครั้งติดกับสายธนู บริเวณที่ลูกธนู Nock ติดกับสายธนู ที่ตำแหน่ง D-loop ทำให้ผู้ยิงสามารถปล่อยสายโดยการลั่นไกในฟอร์มยิงแบบใดหนึ่งได้ เมื่อแรกคิดค้นเครื่องช่วยลั่นไกนี้ (มีการจดสิทธิบัตรใน USA, ปี ค.ศ.1879) รีลีสเป็นที่รู้จักกันในนามว่า ‘ก้ามปู’ การลั่นไกทำได้โดยกดลงไปที่ตัวไกคันโยกด้วยนิ้วหรือนิ้วโป้งโดยตรงเพื่อลั่นไก (แบบเพิ่มแรงกระทำ) หรือ แบบที่จับรีลีสที่รั้งสายธนูไว้ในมือแล้วคลายเพื่อให้รีลีสลั่น (แบบคลายแรงกระทำ) รีลีสมีอยู่มากมายหลายแบบ “ระบบ Hydraulic หรือแบบกลไกหน่วงเวลา” ก็มีออกมาให้เห็น เช่นเดียวกับระบบลั่นไกแบบ “back tension” ซึ่งจะทำงานทั้งได้ในแบบมุมองศาของรีลีสเปลี่ยนไป หรือแบบ “true back tension” ระบบลั่นไกจะทำงานเมื่อน้ำหนักสายถูกดึงถึงเกณฑ์ที่ตั้งเอาไว้

รีลีสลั่นไกที่ว่านี้ มีจุดสัมผัสกับสายธนูเพียงจุดเดียว แทนที่จะต้องใช้นิ้วสามนิ้วสัมผัสสายธนูเหมือนวิธีที่ยิงด้วยนิ้วแบบเดิมๆ นี่เป็นการช่วยทำให้สายธนูไม่ต้องผิดรูปไปมากนักเมื่อถูกน้าวสายจนสุดระยะ เช่นเดียวกับการปล่อยสายก็สามารถทำได้เหมือนเดิมทุกครั้งๆ คงเส้นคงวามากขึ้น คนส่วนใหญ่เลือกลั่นไกโดยกด ‘เพิ่มแรงกระทำ’ ถือได้ว่าการลั่นไกแบบนี้เป็นแบบที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด ในทางตรงกันข้าม แบบดั่งเดิม ปล่อยสายยิงด้วยนิ้วเป็นการ ‘คลายแรงกระทำ’ ของนิ้วที่น้าวสายรั้งเอาไว้ นักยิงธนูบางคนนิยมยิงแบบวางนิ้ว 3 นิ้วไว้ใต้ลูกธนู ยิงด้วย Tab รองนิ้ว บางคนก็ชอบยิงแบบ 1 นิ้วเหนือลูก 2 นิ้วใต้ลูก ซึ่งวิธีการยิงแบบนี้จะพบเห็นกันได้บ่อยสำหรับนักธนูชาวอังกฤษและอเมริกันตอนเหนือ พวกนี้จะนิยมที่ปล่อยสายยิงธนูด้วยนิ้ว และไม่นิยมการใช้รีลีสลั่นไกกับคันธนู Compound

ข้อดี

ข้อได้เปรียบประการแรกในการใช้ รีลีสลั่นไก คือ โอกาสเสี่ยงของสายยิงหลุดจากรอกในกรณีน้าวสายผิดพลาดลดลงอย่างมากในธนูทดกำลัง การน้าวสายและสายหลุดออกจากรอกจะทำให้รอกดีดตัวกลับ ธนูลั่นและมีอัตราเสี่ยงที่จะสร้างความเสียหายให้กับคันธนู หรือแม้อาจจะทำอันตรายให้ผู้ยิงบาดเจ็บเองด้วยซ้ำ

การใช้รีลีสลั่นไกยังสามารถยิงให้ได้กลุ่มที่แน่นขึ้นโดยไม่ยาก เนื่องมาจากการดึงน้าวสายธนูได้อย่างสม่ำเสมอของรีลีสทุกครั้ง จะทำได้ดีกว่าการน้าวสายด้วยนิ้ว ด้วยกล้ามเนื้อนิ้วที่ต้องรั้งน้ำหนักขณะน้าวสายธนู อีกทั้งการที่จะให้ทั้งสามนิ้วปล่อยสายให้หลุดออกไปพร้อมกันทุกครั้ง หรือทำซ้ำอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นเรื่องที่ทำได้ยากกว่า

ถ้าผู้ยิงใช้รีลีสแบบสายรัดข้อมือ รีลีสแบบนี้จะทำให้ผู้ยิงสามารถน้าวสายคันได้ด้วยกล้ามเนื้อแขน ต่างกับรีลีสแบบลั่นด้วยนิ้วที่จะใช้กล้ามเนื้อจากนิ้วกำรีลีสและน้าวสาย ซึ่งจะต้องจับให้แน่นเพื่อไม่ให้รีลีสหลุดกระเด็นออกไป

คันธนูทดกำลังสมัยใหม่หลายๆ รุ่น ถูกออกแบบมาเพื่อให้ใช้กับรีลีสลั่นไก มันถูกออกแบบมาพร้อมตำแหน่ง Limp stops ที่มั่นคงและการผลักส่งให้ลูกเคลื่อนที่ในแนวระนาบได้อย่างเหมาะสม หาไม่แล้ว โอกาสที่สายจะหลุดกระเด็นออกจากรอก ถ้าไม่ได้ใช้รีลีสลั่นไกจะมีมากกว่า

ข้อเสีย

ก็คงเหมือนกับเครื่องมือหรืออุปกรณ์ทั่วไป รีลีส ย่อมมีโอกาสชำรุดเสียหายหรือติดขัดได้ ถ้านักธนูไม่มี รีลีสลั่นไกสำรองไว้ใช้ยามฉุกเฉินย่อมไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากจะใช้นิ้วเปล่ายิงแทนเพื่อดำเนินการแข่งขันให้จนจบ และแน่นอนวิธีน้าวสายเปลี่ยน ระยะน้าวสายเปลี่ยน ความแม่นยำย่อมไม่มี

ชนิดของรีลีส

รีลีสแบบรัดข้อมือ (Wrist Triggers)

เป็นรีลีสที่มีคนนิยมใช้กันมากที่สุด ใช้กันในหมู่นักธนูล่าสัตว์และผู้ยิงธนูเชิงนันทนาการที่ยิงเล่นเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ นี่เป็นรีลีสแบบที่ใช้ง่ายที่สุด อาจเป็นเพราะทุกคนคุ้นเคยกับการแค่ใช้นิ้วชี้กดลากไกเพื่อลั่นยิง รีลีสแบบนี้ประกอบด้วยสายรัดข้อมือที่มั่นคงและท่อนกลไกที่ต่อไปยังระบบลั่นไก มันทำให้นักธนูล่าสัตว์ไม่ต้องพะวงว่ารีลีสจะล่วงหล่นลงมาในขณะที่ผู้ยิงนั่งห้างอยู่บนต้นไม้เพื่อรอดักยิงสัตว์ อีกทั้งรีลีสที่รัดไว้บริเวณข้อมือ ปล่อยให้มือว่างสามารถหยิบจับฉวยอะไรได้อย่างสะดวก

รีลีสแบบใช้มือจับ

เป็นรีลีสแบบที่ต้องใช้ฝ่ามือจับดึง มีกลไกยื่นออกมาระหว่างร่องนิ้วชี้และนิ้วกลาง รีลีสแบบมือจับมักใช้ระบบลั่นไกอยู่ 2 ลักษณะ คือ แบบ Back tension และ แบบนิ้วโป้งกด รีลีส

กลไกของรีลีส

แบบก้ามปู (Caliper Style)

โดยมากจะมาในรูปรีลีสแบบรัดข้อมือ เนื่องจากกลไกลั่นไกจะอยู่ตำแหน่งใกล้กับบริเวณส่วนหัวของรีลีส ทำให้มันง่ายที่จะกดอ้าเปิดและปิดตัวก้ามปูได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหวอยู่เพียงหนึ่งหรือสองชิ้น การใช้งานรีลีสรุ่นนี้จึงเรียบง่ายและเชื่อถือได้

ตัวลั่นไกด้วยนิ้วโป้ง (Thumb Switch)

รีลีสแบบนี้จะมีกลไกที่ค่อนข้างซับซ้อน ด้วยชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหวหลายชิ้น มันทำงานโดยการรับแรงกดของนิ้วโป้งลงไปเพื่อทำให้กลไกทำงาน จุดที่น่าสนใจของรีลีสแบบนี้ คือ มันเป็นรีลีสที่ใช้ดี ซึ่งอยู่ระหว่าง แบบก้ามปู Caliper Style และ แบบ Back Tension

แบบ Back Tension

รีลีสแบบนี้เป็นแบบที่มีกลไกเรียบง่ายที่สุด มีส่วนเคลื่อนไหวเพียงส่วนเดียว หากด้วยเหตุนี้มันเป็นรีลีสที่หัดได้ยากที่สุด การใช้อุปกรณ์ตัวนี้เกี่ยวข้องกับการหดดึงของกล้ามเนื้อ ตลอดแขนและหลัง เพื่อที่จะให้เขี้ยวสลักของรีลีสปล่อยตัวหลุดออกจากตัวล็อค ที่เป็นชิ้นเหล็กมีลักษณะรูปร่างคล้ายพระจันทร์เสี้ยว เป็นการลั่นไก สำหรับนักกีฬายิงธนูระดับแข่งขัน รีลีสแบบนี้เป็นที่ยอมรับว่าให้ความแม่นยำและเชื่อถือได้ แต่หัดยาก

ในรูปจะเห็นว่า รีลีสมีปุ่มกดด้านข้าง ปุ่มที่กดถูกออกแบบมาเป็นตัวเซฟตี้ป้องกันการลั่น ผู้ยิงจะต้องกดและจับปุ่มนี้ค้างไว้ขณะน้าวสาย เมื่อเข้าตำแหน่ง Anchor แล้ว พร้อมยิงค่อยปล่อยเซฟตี้ล็อค แล้วเร่งจังหวะยิงแบบ Back Tension

รีลีสในรูปเป็นรุ่นใหม่ล่าสุด ถูกออกแบบมาด้วยกลไกที่ซับซ้อนขึ้น สามารถใช้ลั่นไกได้ในแบบ Thumb Switch, ลั่นไกได้ทั้งในแบบเพิ่มน้ำหนัก, คลายน้ำหนัก, หรือ แบบ Back Tension

Back Tension แบบวาง 3 นิ้ว

Back Tension แบบวาง 4 นิ้ว

การเกี่ยวรีลีสกับคันธนู

การใช้ D Loop

เป็นวิธีที่นิยมมากที่สุด รีลีสจะถูกเกี่ยวล็อคติด D Loop ซึ่งถูกมัดติดอยู่กับสายธนู การยิงโดยเกี่ยวล็อคแบบนี้เชื่อกันว่า Toque หรือแรงกระทำจากการสัมผัสสายในขณะปล่อยสายยิงจะน้อยที่สุด D Loop เป็นเชือกไนล่อนเส้นเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางไม่ใหญ่มากนัก ผูกมัดติดอยู่กับสายธนู โดยใช้เงื่อนกระหวัดไม้ (Half Hitch Knot) กลับหน้ากัน 2 ปม ซึ่งจะทำให้เป็นรูปร่างคล้ายตัวอักษร D

D Loop แบบที่ 1 – แบบไม่มี Serving Nock set

ข้อดี
– ผูกได้ง่าย ไม่ต้องใช้ทักษะอะไรมากนัก
– สามารถขยับขึ้นลงสายได้ โดยเพียงคลายปมออกเพียงเล็กน้อย

ข้อเสีย
– สายอาจแคบจนหนีบเบียดกับ Nock ลูกธนู ทำให้ลูกธนูตก Rest ช่วงดึงน้าวสาย
– ถ้าหากต้องเปลี่ยน D Loop มันไม่มีตำแหน่งเดิมที่แน่ชัด ที่ใช้อ้างอิง
– หมุนบิดตามแรงสะบัดของสายได้ง่

D Loop แบบที่  2 – แบบมี Serving Nock set 1 จุด ข้างล่าง

แบบนี้ เหมือนแบบที่ 1 ต่างกันตรงที่เพิ่มจุด พัน Serving Nock set อีก 1 จุด ข้างล่างลูกธนู บางคนอาจหนีบ Nock set ทองเหลืองแทนก็ได้  ทำให้สาย D Loop เป็นวงกว้างขึ้น

ข้อดี
– มีจุดหนุนส่งท้ายลูกธนู เพื่อให้แรงกดลงกับ Rest
– สามารถเปลี่ยนสาย D Loop ได้โดยอ้างอิง Nock set ซึ่งอยู่ตำแหน่งเดิมได้ง่าย

ข้อเสีย
– ต้องกำหนดจุดเพื่อพัน Serving Nock set บนสายเพิ่มขึ้นอีกตำแหน่ง
– หมุนบิดตามแรงสะบัดของสายได้

D Loop แบบที่  3 – แบบมี Serving Nock set 2 จุด ทั้งบน-ล่าง

แบบที่ 3 นี้ รัดกุมและเป็นที่นิยมใช้เพื่อกำหนดให้ได้จุดที่แน่นอน และดีที่สุด

ข้อดี
– ลดการเสียดสีของ D Loop กับ Nock ลูกธนู
– เปลี่ยนสาย D Loop ได้ง่าย แค่พันสายใหม่ลงไปตรงตำแหน่งเดิม

ข้อเสีย
– ขนาดของ D Loop ต้องใหญ่ และยาวขึ้น
– ต้องกำหนดจุดเพื่อพัน Serving Nock set บนสายเพิ่มขึ้นอีก 2 ต่ำแหน่ง

การตัดสินใจเลือกการยิงธนูโดยการใช้นิ้วปล่อย หรือใช้รีลีสไม่ว่าจะเป็นในแบบใด ก็ควรต้องพิจารณาถึงการปรับตั้งคันธนู Compound การปรับตั้งศูนย์เล็ง (Sighting) และปรับตั้งที่วางพักลูก (Arrow Rest) ในรูปแบบของการปล่อยยิงในแต่ละแบบนั้นด้วย การเลือกประเภทของที่วางพักลูก (Rest) สำหรับคันธนู Compound ไม่ว่าจะปล่อยสายด้วยนิ้ว หรือ ใช้รีลีสลั่นไก ต้องพิจารณาให้ดีเพราะแต่ละแบบถูกออกแบบมาในลักษณะการใช้ที่ต่างกัน สำหรับผู้ที่ยิงธนูด้วยนิ้ว Tab, Plunger, Rest ถือเป็นอุปกรณ์ที่ต้องมาพร้อมกัน ไม่เช่นนั้น ลูกธนูจะถูกยิงออกไปอย่างไม่ถูกวิธี กลุ่มของลูกก็จะสะเปะสะปะ ผู้ยิงไม่สามารถยิงให้ลูกธนูเกาะกลุ่มกันได้

error: เวปไซต์นี้ ป้องกันคัดลอกเนื้อหา !!