ปีกขนนก vs ปีกพลาสติก

ถ้าคุณมีชุดติดปีกลูกธนูแล้ว และคิดจะติดปีกลูกธนูตามแบบและสีที่คุณต้องการ – ไว้สำหรับยิงในร่ม, ยิงกลางแจ้ง, 3D, ฯลฯ คำถามในใจคือ “จะใช้ปีกขนนก หรือว่าปีกพลาสติกดี?”

มันมีหลายปัจจัย ขึ้นอยู่กับผู้ยิงธนูแต่ละคนที่จะต้องพิจารณาก่อนที่จะตกลงตัดสินใจในเรื่องดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่น สไตล์การยิง, สถานที่แข่ง, เป้าหมายของตน, ฯลฯ ซึ่งจะได้คำตอบแตกต่างกันไป

แต่มีหลักกว้างๆ บางอย่าง ที่พอพิจารณาเทียบกันได้

ก่อนจะไปถึงบทสรุป เรามาพิจารณาถึงวัตถุประสงค์และส่วนประกอบของ ‘การติดปีกลูกธนู’ มาลองคิดดูว่า การติดปีกลูกเป็นการติดแผ่นปีกใบ เพื่อช่วยประคอง ช่วยหมุนและช่วยเพิ่มความเสถียรให้กับลูกธนูในขณะที่พุ่งแหวกอากาศออกไป ลมจะไหลผ่านปีกใบ ซึ่งจะหมุนลูกธนูและช่วยทำให้ตัวก้านของลูกธนูพุ่งตรงเป็นแนว ไปยังจุดที่คุณเล็ง โดยทั่วไปลูกธนูมักติดปีกจำนวน 3 ปีก จะเป็นขนนก หรือ ปีกพลาสติก

ผู้ยิงธนูบางคนติด 4 ปีก เพื่อเพิ่มความเสถียรในการยิงหัวลูกธนูขนาดใหญ่แบบ ‘ใบมีดล่าสัตว์’ หรือที่เราเรียกว่า ‘Broadhead’

หัวธนูชนิดนี้ บ้านเราไม่เป็นที่นิยมในการยิง เพราะไม่ได้สนับสนุนให้ล่าสัตว์ ยกเว้นกับผู้ที่ชื่นชอบ หาซื้อมาเพื่อประดับ หรือเก็บสะสมไว้ดูเท่านั้น

จากด้านบน: ปีกขนนกขนาด 5”, ปีกพลาสติกขนาด 3” ปีกเตี้ย ยิงเป้ากลางแจ้ง, ปีกพลาสติกขนาด 2” ปีกสูง ใช้กับลูกธนูหัว Broadhead

ปีกขนนก ย่อมทำมาจากขนนก โดยปรกติในเชิงพาณิชย์ปีกขนนกที่มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาด จะทำมาจากส่วนของขนปีกที่ใช้บินของไก่งวง หากแต่ปีกขนนกชนิดอื่นก็อาจนำมาติดเพื่อความสวยงามได้ นกบางชนิด จะมีลายที่จำเพาะ สวยงาม นกบางชนิดจะมีขนที่ยาว แต่อาจหาซื้อยาก

ปีกขนนกไม่ควรเปียกน้ำ ถ้าขณะยิงมีฝนตกปีกขนนกมันจะลู่เมื่อเปียกน้ำ แต่กับปีกพลาสติกหรือปีกพลาสติก มันสามารถจะใช้ได้ในทุกสภาพอากาศ

ปีกขนนกจะกินลมมากกว่า ซึ่งจะเป็นการช่วยหมุนลูกธนูในอากาศได้ดีกว่า มีน้ำหนักปีกที่เบาและให้ตัวได้ดีกว่าปีกพลาสติก ปีกพลาสติกทนทานกว่า แต่ไม่ว่าคุณจะตัดสินใจใช้ปีกชนิดไหน ในลูกธนูเดียวกันควรติดปีกชนิดเดียวกันทั้งหมด ไม่ใช่ติดปีกขนนก 2 ปีกและติดปีกพลาสติก 1 ปีก

ตามรูป : การยิงในแบบที่ 1 ปีกขนนกจะครูดกับส่วนหนึ่งส่วนใดของคันธนู เพียงเล็กน้อย ขนนกบริเวณที่สัมผัสจะลู่ตัวพับลง และคืนตัว เห็นเป็นแค่คลื่นเล็กๆ แทบจะไม่มีการแยกตัวจากกัน

การยิงในแบบที่ 2 ปีกขนนกจะครูดกับส่วนหนึ่งส่วนใดของคันธนู มากกว่าแบบที่ 1 ขนนกจะลู่ตัวพับลงและคืนตัว แต่จะเห็นว่าขนบางเส้นแยกออกจากกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้ผลิตได้แสดงให้เห็นว่าขนจะคืนตัวกลับสู่รูปร่างเพียงช่วงเสี้ยววินาที

การยิงในแบบที่ 3 ปีกขนนกจะครูดกับส่วนหนึ่งส่วนใดของคันธนู มากกว่าแบบที่ 1, และ 2 ขนนกจะลู่ตัวพับลงอย่างเห็นได้ชัด บริเวณที่สัมผัสก็จะแยกออกจากกัน ในหลายจุด แต่ก็จะคืนตัวกลับสู่รูปร่างภายในเวลาอันรวดเร็ว

ผู้ยิงธนูประเภท Traditional มักจะยิงลูกธนูออกจาก shelf คันธนูเลย ไม่ได้ยิงออกจาก Rest เหมือนธนูประเภท Recurve หรือ Barebow ซึ่งการยิงอย่างนี้อาจทำให้ส่วนท้ายลูกธนูตีกับคัน ด้วยเหตุผลนี้ผู้ยิงธนูประเภท Traditional หลายๆ คนมักเลือกใช้ปีกขนนก เพราะขนนกจะให้ตัว ไม่ชน กระแทกหรือครูดกับบริเวณหน้าต่างคัน แต่ถ้าใช้ปีกพลาสติก มักจะชนกับส่วนของคันธนู และจะทำให้ลูกธนูพุ่งออกในทิศทางที่เอาแน่เอานอนไม่ได้

การติดปีกขนนกกับคันธนูประเภท Traditional บางคนก็ถือเป็นศิลปะอีกด้านหนึ่ง เพราะต้องใช้ทักษะในการติดที่ไม่เหมือนกับการติดปีกพลาสติก การตัดปีกขนนกในรูปร่างที่ตัวเองชอบ การติดแบบเกลียวซ้าย-เกลียวขวา การพันเอ็นทับ การตัดต่อเชื่อมขนนก ฯลฯ

รูปแสดงให้เห็นถึงรูปร่างของขนนก ที่ตัดแต่งในรูปร่างต่างกัน ในชื่อเรียกต่างกันไป

สำหรับผู้ยิงธนูประเภท Recurve / Barebow ที่ยิงด้วยคันธนูที่มีทั้ง Rest และ Plunger หรือ ผู้ยิง Traditional บางคน ที่วางลูกธนูลงบน Rest ที่ยกระดับ อาจนิยมเลือกใช้ปีกพลาสติก เพราะ Rest ที่ยกระดับสูงช่วงหน้าต่างคันจะช่วยให้ลูกที่ติดปีกพลาสติกไม่ชน กระแทกกับคันธนู อีกทั้งปีกพลาสติกเป็นที่นิยมใช้ในช่วงฤดูฝน ซึ่งจะต่างกับปีกขนนกที่ไม่สามารถใช้ได้ถ้าหากเปียกน้ำ หรือชุ่มน้ำ

ในการยิงธนูในร่ม นักกีฬาผู้ยิงคันธนูประเภท Compound ดูเหมือนจะแบ่งกลุ่มระหว่างผู้นิยมใช้ปีกขนนก กับ ผู้นิยมปีกพลาสติก ยิงธนูในร่มไม่มีปัญหาเรื่องลมหรือฝน ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญให้ต้องกังวลใจ การใช้ปีกขนนกว่ากันว่าช่วยแก้ข้อผิดพลาดในการยิงได้ดีกว่า เพราะลักษณะที่ขนนกให้ตัวดีในอากาศ ทั้งปีกขนนกและปีกพลาสติกให้การควบคุมทิศทางได้ดีในการยิงในร่มไม่แพ้กัน

นักกีฬายิงธนูประเภท Olympic Recurve มักจะเลือกใช้ลูกธนูที่ติดปีกขนนก ด้วยเหตุผลที่มันช่วยแก้ไขข้อผิดพลาดในช่วงที่ลูกกำลังพุ่งออกจาก Rest และคันธนู

แต่ก็อีกนั่นแหละ ยังมีให้เห็นว่าผู้ยิงอีกหลายคนเลือกยิงลูกธนูที่ติดปีกพลาสติก มีทั้งแบบ Outdoor และ Indoor

รูป : ปีกลูกธนูที่ถูกออกแบบกันมาให้แตกต่าง ทั้งวัสดุ รูปร่าง ขนาด ลักษณะการใช้งาน ความสวยงาม บ้างก็เน้นความสะดวกในการเปลี่ยนซ่อม

พูดถึงการยิงธนูในสนามกลางแจ้ง Outdoor ผู้แข่งขันคันธนูประเภท Compound ส่วนใหญ่ และ Olympic Recurve มักยิงด้วยปีกพลาสติกแบบ Outdoor ปีกที่มีขอบเตี้ย (Low profile) จะลดโอกาสที่โดนลมหอบให้ลูกธนูแกว่งได้น้อยกว่า อีกทั้งปีกพลาสติกไม่กลัวน้ำ บ่อยครั้งที่ผู้ยิงธนูประเภท Olympic Recurve เลือกใช้ ‘ปีกม้วน’ ทำจากแผ่นพลาสติก Mylar ซึ่งมีผู้ผลิตหลายยี่ห้อ : XSWings, Range-O-Matic, Eli, Gas Pro, Kurly Vanes, ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดโฆษณาว่าปีกชนิดนี้ช่วยให้ลูกหมุนตัวได้เต็มที่ขณะยิงกลางแจ้ง

การยิงธนูบางประเภท เช่น การยิงธนูเป้าบิน ยังคงต้องใช้ลูกธนูที่ติดด้วยปีกขนนก ที่เรียกว่า ลูก Flu-Flu ลักษณะเป็นขนนกยาว มาติดพันรอบลูกเพื่อช่วยลดแรง ให้ลูกธนูพุ่งออกไปเพียงระยะไม่ไกลมากนัก เพราะเป้าบินที่ถูกปล่อย จะอยู่ไม่ไกลจากผู้ยิง ลูกธนูถ้าพลาดเป้า ก็จะตกลงพื้นภายในระยะใกล้

ลักษณะของลูกธนู Flu-Flu ที่ใช้ยิงเป้าบิน

 

อันที่จริงแล้วอาจบอกได้ว่า มันไม่มีกฎตายตัวระหว่างการเลือกใช้ว่าจะเป็น ปีกขนนก หรือ ปีกจากวัสดุสังเคราะห์

ที่เหมาะสมที่สุดคือ ให้พิจารณาว่าคุณจะเอาอุปกรณ์ไปใช้สภาพเงื่อนไขอย่างไร มีข้อจำกัดอะไร คุณควรได้มีโอกาสทดลองใช้และสังเกต หาเทคนิคในการใช้ วิธีการติด เทียบผลที่ได้จากการใช้ปีกในแต่ละชนิด แล้วคุณเองนั่นแหละจะบอกได้ว่า ปีกแบบไหนใช้ดีที่สุด เหมาะกับการยิงของคุณ

รูป : ปีกลูกธนูที่ถูกออกแบบกันมาให้แตกต่าง ทั้งวัสดุ รูปร่าง ขนาด ลักษณะการใช้งาน ความสวยงาม บ้างก็เน้นความสะดวกในการเปลี่ยนซ่อม

error: เวปไซต์นี้ ป้องกันคัดลอกเนื้อหา !!