ถ้าลองเปรียบให้สายธนูเป็นเหมือนฟันเฟืองที่ใช้ถ่ายทอดพลังงานขับเคลื่อนจากเครื่องยนต์เพื่อส่งพลังให้กับคันธนู ไม่ว่าจะเป็นคันธนูทดกำลัง Compound, คันธนูโค้งกลับ Recurve, หรือแม้แต่คัน Traditional
เครื่องในรถยนต์ และส่วนต่างๆ ก็ต้องการการดูแล รักษา เอาใจใส่ การเข้าศูนย์บริการ ก็เพื่อหมั่นตรวจเช็คสภาพให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน เฉกเช่นเดียวกับ สายธนู ซึ่งต้องการการดูแลเช่นกัน
WAX ON, WAX OFF
วิธีที่ง่ายและสะดวกที่สุด ที่คุณสามารถทำได้เรื่อยๆ โดยไม่ยากเย็นที่จะดูแลสายธนู คือการ ‘Wax สาย’ หรือเรียกว่า ‘ลงไขที่สาย’ แล้วเราจะ Wax สายบ่อยแค่ไหนละ? มันก็อาจขึ้นอยู่กับตัวแปรต่างๆ – ความชื้น, ความถี่บ่อยของการใช้งาน (ยิงธนูบ่อยแค่ไหน), ฝุ่นละออง, ฯลฯ
ถ้าจะใช้สังเกตง่ายๆ แบบบ้านๆ ก็เพียงลองสัมผัส จับสาย ลูบคลำดู ถ้าหากรู้สึกว่าสายจับแล้วหนืดๆ ติดนิ้วเล็กๆ แสดงว่า ไขที่สายยังคงมีอยู่ แต่ถ้าจับแล้วรู้สึกได้ว่า เรียบ แห้ง แนะนำคุณควรลงเพิ่ม
เมื่อใดที่คุณเห็นสายเริ่มแตกเป็นขนขุย นั่นหมายถึงว่า สายธนูของคุณขาดการดูแลมานานเกินไปแล้ว ควรลงไขที่สายเพิ่มทันที
ถ้าหากเห็นเส้นใยเป็นเส้นยาวแตกย่อยแยกออกมาจากสายธนู อย่างนั้นแสดงว่าสายธนูเริ่มเปี่อยขาดแล้ว การลงไขเพิ่มไม่สามารถช่วยได้ ควรต้องเปลี่ยนสายธนูเส้นใหม่เลย
รูปที่เห็นนี้เป็นสายที่ต้องการให้ลงไข หรือ Waxing เพิ่ม สังเกตให้ดีจะเห็นว่าสายมีลักษณะเป็นขุย
และนี่เป็นลักษณะของสายธนูที่ลงไข หรือ แว็กซ์สาย เรียบร้อยแล้ว
การ Wax สาย หรือ ลงไขที่สาย เป็นเรื่องง่าย สามารถทำได้เรื่อยๆ
Wax ทาสาย ส่วนใหญ่จะผลิตวางจำหน่ายเป็นลักษณะแท่งหลอดเหมือนลิปสติก หรือสติ๊กดับกลิ่นกาย แค่เปิดฝาดันไขให้โผล่ออกมาเพียงเล็กน้อย และป้าย ถู ไขแท่งสติ๊กลงไปบนสาย ใช้นิ้วโป้ง กับนิ้วชี้ ขยี้ ลูบ ไปตลอดแนวบริเวณของสายที่ต้องการลงไข ถูขึ้นลงไปด้วยแรงพอประมาณจนรู้สึกว่านิ้วร้อนขึ้น บ้างก็อาจใช้แผ่นหนังถูกับสายเพื่อให้เกิดความร้อนแทนการใช้นิ้ว ทำอย่างนี้ไขจะละลายซึมลงไปเคลือบสายธนูได้ทั่ว
การทาไขลงบนสายธนู หรือ Waxing
ใช้นิ้วโป้งกับนิ้วชี้ จับสายแล้วถูขึ้นลงไปตามความยาวของสายธนู หรืออาจจะขยี้ให้ไขแทรกไปอยู่ระหว่างเส้นใยก็ได้ เมื่อเสร็จแล้ว จะสังเกตได้ว่าบนสายจะไม่มีขุยขนให้เห็นอีก
ไม่ควรลงไขบนส่วนของ Serving เพราะไข หรือ Wax สามารถแทรกลงไปอยู่ใต้สาย Serving และจะทำให้ส่วน Serving ที่เราต้องการพันรัดไว้ให้แน่น หลุด หลวม ลุ่ย หรือเลื่อนคลายตัวออกได้
หมั่นตรวจตรา อย่าให้ลงไขบนสายมากจนเกินไป ซึ่งจะส่งกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานของสาย
SERVING ที่เหมาะสม
ตรวจดู Serving ทุกจุดบนสายธนูอย่างละเอียด (ถ้าเป็นคันธนูทดกำลัง Compound ต้องตรวจดูสาย Cable ด้วย) Serving เป็นการพันสายเส้นเล็กๆ เสริมทับลงไปบนสายธนู เพื่อเพิ่มความแข็งแรงทนทานในส่วนนั้น
สายธนูส่วนใหญ่จะพัน Serving ทับลงไปบริเวณที่ต้องเสียบลูกธนู หรือที่เรียกว่า Nocking Area อีกบริเวณหัวท้ายทั้งสองด้านของสายซึ่งสัมผัส ปลาย Limbs ของคันธนู (ในคันธนูทดกำลัง รอก Cam และยังมีส่วนของสายเคเบิล บริเวณที่สายต้องสัมผัสรอก หรือบริเวณที่ต้องสัมผัสกับ Cable guard, ตำแหน่งตัวหยุดสาย String Stopper) ก็ต้องพัน Serving ทับด้วย เพื่อเพิ่มความทนทาน
ควรพัน Serving ทับลงไปให้เป็นลักษณะเกลียวแน่น เรียงชิดกัน ไปบนสายธนู ตลอดทั้งแนวบริเวณ
ตำแหน่งพัน Serving บริเวณ Nocking Area จุดไหนที่หลวมหรือห่าง อาจจะส่งผลต่อความแม่นยำในการยิง จึงต้องแก้ไขในทันทีที่พบเห็น
การหลวม เลื่อน แยกกันของเกลียว Serving บนจุดอื่นอาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องแก้ไขทันที แต่ถ้าทิ้งเอาไว้นานมันจะหลวม เลื่อน แยกออกไปเรื่อยๆ
รูปนี้แสดงให้เห็นสายที่ขาดรุ่ยออกเป็นเส้นอย่างเห็นได้ชัด ควรเปลี่ยนสายใหม่
Serving ที่พันบริเวณรอกเลื่อน
แต่ถ้าสาย Serving ขาด ต้องได้รับการซ่อมแซมทันที ไม่ว่าจะเป็น Serving อยู่ตรงส่วนไหนบนสายธนู
รูปนี้เป็นลักษณะของสาย Serving ที่ขาดเสียหาย
รูปที่เห็นนี้เป็นตำแหน่ง Serving ที่ได้รับการซ่อมแซมแล้ว
ร้าน Pro shop ของสนามยิงธนู AF เราก็มีอุปกรณ์พร้อมให้บริการเรื่องนี้กับสมาชิกนักธนู ทั้งสายธนู Recurve, สายธนู สายเคเบิล ของ Compound, สายธนูถัก Flemish ของ Traditional
การพัน Serving บางบริเวณของสายธนู Compound อาจต้องใช้ Bow Press ช่วยในการซ่อมแซม
ต้องให้ความใส่ใจด้วยว่า สาย Serving ที่จะใช้พัน มันมีขนาดความหนาไม่เท่ากัน ยิ่งต้องพันบริเวณ Nocking Area ด้วยแล้วต้องใส่ใจมากเป็นพิเศษ เพราะนักธนูทุกคนคงอยากที่จะเสียบใส่ลูกธนูลงบนสายได้อย่างพอดี ไม่หลวม หรือแน่นไป
สายยืด
คันธนูประเภท Recurve ควรต้องหมั่นเช็ค วัด ระยะรั้งสาย เพื่อเป็นการตรวจดูว่าสายธนูยืดตัวมากไปหรือเปล่า Brace height หรือระยะรั้งสาย สายธนูที่ถูกใช้มาตามระยะเวลาย่อมมีการยืดตัว ระยะรั้งสายอาจจะลงลดถ้าหากสายยืด โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วง 2 -3 วันแรกของสายธนูใหม่ที่เพิ่งถูกเปลี่ยนใส่กับคันธนู
รูปนี้แสดงให้เห็นถึงการวัดระยะรั้งสาย – ระยะห่างระหว่างช่วงคอกริปมือจับกับสายธนู
ถ้าเป็นดังนี้ ให้ลดสายคันธนูลง หมุนเพิ่มจำนวนเกลียวสายธนู ขึ้นสายธนูใหม่ แล้ววัดระยะรั้งอีกครั้ง ทำอย่างนี้จนได้ระยะรั้งที่ต้องการ การเพิ่มจำนวนเกลียวก็เปรียบเป็นการเพิ่มระยะรั้งของสายธนุ
สำหรับคันธนูทดกำลัง Compound ผู้ยิงต้องคอยหมั่นตรวจเช็คระยะการทำงานของรอก Cam Timing เพื่อที่จะรู้ว่าสายเคเบิลมีการยืดตัวหรือเปล่า แค่ไหน ที่คุณต้องการคือการทำงานของรอกทั้ง บน-ล่าง Dual Cam หมุนให้ตัวอย่างสัมพันธ์กันโดยสมบูรณ์ ถ้ามีรอกใดรอกหนึ่งทำงานไม่สัมพันธ์กัน ย่อมมีผลต่อความเที่ยงตรงแม่นยำ หมุนเพิ่มเกลียวสายเคเบิลเพื่อปรับการทำงานให้รอกสมดุลกัน
แต่สำหรับคันธนูทดกำลังแบบ Single Cam สอบถามรายละเอียดจากผู้ผลิตถึงวิธีที่จะตรวจเช็คว่าตำแหน่งรอกที่ถูกต้องควรอยู่ตำแหน่งไหน การปรับแก้ไขสายเคเบิลที่ยืด ก็ยังคงเป็นการหมุนเพิ่มเกลียวให้กับสายธนูเช่นเดียวกัน
การดูแลรักษาสายธนู เป็นการยืดอายุการใช้งานให้กับอุปกรณ์ นักธนูจะรู้ดีว่าถ้าได้ใช้สายธนูดีๆ จะทำให้การยิงธนูมีความสุข สนุกขึ้นมาก ประสิทธิภาพของคันธนูจะถ่ายทอดพลังงานลงสู่ลูกธนูทุกครั้งที่ปล่อยสายยิงออกไป
ถ้าเราสละเวลาและใส่ใจกับสายธนูมากขึ้นอีกนิด หมั่นสังเกตุทั้งก่อนยิงและหลังเสร็จสิ้นการยิงทุกครั้ง แล้วสายธนูจะอยู่รับใช้เราไปได้อีกนาน
เรียบเรียงจากบทความของ P.J.Reilly