อาจจะพูดได้ว่า แทบทุกคนที่ได้คันธนูใหม่มาอยู่ในมือ ใจมันก็คอยแต่จดจ่อ อยากรู้ว่าธนูคันใหม่นี้จะยิงได้ดีเหมือนที่ตั้งใจ หวังไว้หรือเปล่า ความรู้สึกจะเป็นอย่างไร จะยิงได้ดีไหม เมื่อไหร่จะได้ลองยิงดูสักที…..
โดยปกติ ธนูทุกคันที่ออกจากโรงงาน มักจะต้องผ่านการตรวจสภาพมาแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพอถึงมือเรา ก็จะนำมายิงได้เลยทั้งในสภาพอย่างนั้น มันเป็นเพียงผ่านการปรับตั้งเพื่อตรวจสภาพของสินค้าที่ผลิตเท่านั้นครับ เมื่อผู้ซื้อได้มันมาก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำการ Set up เบื้องต้น, ปรับตั้งคัน, จูนคัน เพื่อให้เหมาะสมกับตัวผู้ยิง สมกับประสิทธิภาพของคันธนูและอุปกรณ์เสริมต่างๆ ที่จะติดตั้งเพิ่มเติมลงไป ตามที่เราต้องการ
แน่นอนว่าทางร้านผู้ขาย ก็มีบริการที่จะช่วยเรา Set up เบื้องต้น ถือเป็นบริการหลังการขายควบคู่กันอยู่แล้ว และเพื่อให้ความสะดวกสำหรับลูกค้า หากแต่ว่า ธนูเมื่อยิงไปได้สักระยะหนึ่ง สภาพที่ปรับตั้งไว้ก็ต้องมีความผิดเพี้ยนไป ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องธรรมดา
เนื่องด้วยธนูมีส่วนประกอบอยู่ก็หลายรายการ อุปกรณ์ต่างๆ เป็นสิ่งสำคัญในกีฬายิงธนู ถึงแม้ว่าทักษะของผู้ยิงจะดี แต่ถ้าหากคันธนูไม่ได้อยู่ในสภาพที่ปรับตั้งมาดี ผลของการยิงก็ไม่อาจจะดีไปได้
เพราะเหตุนี้ เจ้าของคันธนู อย่างน้อยก็ควรต้องมีความรู้เรื่องการ Set up ปรับตั้งคันได้บ้าง เพื่อจะได้ตรวจเช็ค ดูแลสภาพธนูที่เรารักให้อยู่กับเราได้นานๆ และจะสนุกกับการยิงธนูอย่างคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป สมกับประสิทธิภาพของคันที่ซื้อหามา
ผมเองต้องขอออกตัวก่อนครับว่า สิ่งที่เอามาเขียนนี้เป็นเพียงการรวบรวมเอาข้อเขียนต่างๆ ที่ลงไว้จากเวปต่างประเทศหลายๆ แหล่ง, จากตำราบ้าง, เป็นคำแนะนำจากผู้รู้หรือมีประสพการณ์ที่ได้ยินได้ฟังมาบ้าง เอามารวมให้ได้อ่านกันโดยสะดวก
ทีแรก ผมตั้งใจว่าจะลงแค่เรื่อง ‘ปรับตั้งคัน’ หรือที่เราเรียกว่า จูนนิ่งคัน (Bow Tuning) แต่สังเกตุว่า ยังมีเพื่อนๆ ที่ยิงธนูอยู่ต่างจังหวัดและยังไม่สะดวกเดินทางมากรุงเทพฯ ถ้าเริ่มแนะนำตั้งแต่ Set up เบื้องต้น ก็คงจะเหมาะกว่า เพราะถ้า Set up คันไม่เป็น การปรับตั้งคัน / จูนคัน ก็คงดีไม่ได้
BASIC SETUP(เซ็ทอัพเบื้องต้น)
สำหรับคันธนูประเภท RECURVE
ก่อนที่เราจะปรับตั้งหรือจูนอุปกรณ์ให้ละเอียดดีได้ ต้องมีการเซ็ทอัพธนูเบื้องต้น ให้อยู่ในสภาพพร้อมก่อน นับตั้งแต่ได้คันธนูมา
เราลองมาดูหน่อยครับว่าส่วนประกอบต่างๆ ของคันธนู Recurves มีอะไรบ้าง จะได้เข้าใจตรงกันเวลากล่าวถึงส่วนต่างๆ
ดูแนวของ Limbs บน-ล่าง
เริ่มตั้งแต่เราเอา Limbs เสียบใส่ลงใน Limbs pockets ทั้งด้านบนและล่าง และลองขึ้นสายดู
แนะนำว่านี่เป็นสิ่งที่ต้องเช็คเป็นอันดับแรกก่อนเลยครับ โดยให้เราหากระดาษกาวสีขาว ขนาดยาวสัก 2 นิ้ว มาติดลงตามความกว้างของ Limbs ทั้งบนและล่าง ขีดเส้นตรงแบ่งจุดกึ่งกลางกระดาษ แล้วลองเล็งดูว่าสายธนู ต้องพาดผ่านจุดกึ่งกลางของ Limbs บน-ล่างทั้งคู่ และอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกันด้วยหรือเปล่า เพราะถ้าไม่ตรงกันแล้วนั่นอาจหมายถึงว่า Limbs อาจจะมีการบิดตัวอยู่
หรืออาจจะใช้อุปกรณ์อีกตัว มาช่วยอำนวยความสะดวก คือ Limb Line Gauge
ผู้ผลิต Beiter ผลิตออกมาจำหน่าย (รุ่นสีเหลืองใช้กับ Limb ขนาดไม่ใหญ่มากนัก เช่น Recurves),
(รุ่นสีดำใช้กับ Limb ใหญ่ เช่น Compounds)
โดยกดหนีบติดกับ Limb บนและล่าง ในขณะที่คันขึ้นสายรั้งไว้ตามปรกติ
แล้วลองเล็งดูว่าสายธนูต้องพาดผ่านจุดกึ่งกลางของ Limbs Line Gauge ทั้งคู่ และอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกันด้วยหรือเปล่า หรือตัวไหนไม่ตรง บน หรือ ล่าง
ถ้าหากแนวไม่ตรงกันเราจะต้องลดสายลงก่อน และทำการปรับแก้ โดยการคลายตัวน๊อตด้านข้างแล้วปรับหมุนให้ตัวร่องของ Limb Pocket เยื้องออกไปทางซ้าย หรือ ทางขวา ให้ปรับทีละรอบ แล้วหมั่นตรวจดูใหม่ ปรับจนกว่า Limbs ทั้งบนและล่าง อยู่ในแนวตรงกัน
(ตำแหน่งของน๊อตที่จะไขปรับ Alignment แนะนำให้ดูได้จากคู่มือที่แนบมาพร้อมกับคันธนูจากโรงงานผู้ผลิต Riser นั้นๆ แต่ละยี่ห้อ แต่ละรุ่น อาจจะไม่ตรงกัน และบางรุ่นอาจไม่สามารถปรับตั้งจุดนี้ได้เลย)
Limbs เป็นส่วนสำคัญที่จะต้องขับเคลื่อนลูกธนูให้พุ่งออกไป ถ้าหาก Limbs ต่างคู่กัน หรือมีการบิดเบี้ยวมาจากขั้นตอนในการผลิต ก็จะเป็นเรื่องยากมากที่จะยิงลูกธนูให้เข้าวง 10 ได้อย่างแม่นยำทุกลูก
Limbs ที่ดีจะช่วยลดข้อผิดพลาดในการปล่อยสายได้ หรือที่เรียกว่ามี Forgiveness และเราจะรู้สึกว่าน้าวดึงสายได้ง่าย Limbs อาจจะทำด้วยวัสดุที่มี คุณภาพ / คุณสมบัติ แตกต่างกัน:-
– ไม้ / Fiberglass จะเป็นวัสดุรุ่นแรกๆ ที่นำมาใช้ผลิต หากแต่มีข้อจำกัด เพราะไม้จะมีปัญหากับความชื้น, อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง และความร้อน ซึ่งมีผลในการคลายตัวและบิดตัวได้
– Carbon Fiber จึงถูกผู้ผลิตพัฒนา นำมาใช้เสริมชั้น เพื่อเพิ่มความแข็งแรง และลดโอกาสที่จะเกิดการบิดตัว
– Carbon / Wood ไม้ยังคงถือเป็นวัสดุที่เหมาะสำหรับนำมาทำปีกธนู ด้วยประสิทธิภาพที่ให้แรงดีดได้ดี มีความยืดหยุ่น อ่อนตัว แต่ให้พลัง เป็นวัสดุที่หาได้ไม่ยาก ต้นทุนไม่สูงเหมือนวัสดุสังเคราะห์ จึงยังคงถูกนำมาใช้ลามิเนตร่วมกับ Carbon เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้แกร่งขึ้น บิดตัวน้อยลง
– Carbon / Foam เป็นการใช้วัสดุสังเคราะห์สมัยใหม่ ที่ถูกปรับปรุงขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ Limbs (อันนี้แล้วแต่ผู้ผลิตแต่ละค่ายจะปรับปรุง บ้างก็ว่า เพิ่มความเร็วลูก, มี Forgiveness ที่ดี , ลดแรงสั่นสะเทือน, น้ำหนักเบา, ฯล)
ด้วยเหตุที่เป็นวัสดุสังเคราะห์ ผู้ผลิตจึงมีโอกาสที่จะพัฒนาคุณภาพและคุณสมบัติของ Limbs ให้ได้ดียิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วแต่เทคโนโลยีจะพัฒนาไปถึง
ตั้งค่า Brace height
Brace height คืออะไร?
Brace height คือ ระยะรั้งห่างของสายธนูกับคันธนู
ที่จริงแล้ว Brace height เป็นระยะรั้งห่าง ระหว่างสายกับจุดที่ลูกธนูสัมผัสกับ Plunger
(หากแต่ว่า ส่วนใหญ่ตำแหน่งของ Plunger จะอยู่ประมาณแนวเดียวกัน กับจุดสัมผัสตรงคอที่จับ Grip พอดี ซึ่งจะวัดได้ง่ายกว่า เราเลยมักจะวัดระยะรั้งห่าง ระหว่างสายกับ จุดสัมผัสตรงคอที่จับ Grip ของคันธนูแทน)
Brace height ควรจะต้องอยู่ในระยะ ตามตารางที่บริษัทผู้ผลิตแนะนำ ขึ้นอยู่กับขนาดความยาวของธนูที่ต่างกัน
Brace height จะมีผล อย่างไรกับลูกธนู?
การเพิ่ม Brace height (โดยการหมุนเพิ่มเกลียวให้กับสาย เพื่อทำให้สายสั้นลง) จะเป็นการเพิ่มแรงเค้นให้กับ Limbs ซึ่งมีผลให้น้ำหนักสายทั้งก่อนยิงและขณะน้าวสาย ‘เพิ่มขึ้น’ ด้วย
การลด Brace height (โดยการหมุนคลายเกลียวให้กับสาย เพื่อทำให้สายยาวขึ้น) ก็จะ ‘มีผลในทางตรงกันข้าม’
อย่าง ไรก็ตาม การเพิ่มระยะรั้งสาย Brace height ก็จะมีผลทำให้ความเร็วลูกลดลงอยู่บ้างเล็กน้อย (หลักกลศาสตร์ – ด้วยระยะดีดตัว Power Stroke ของ Limbs แคบลง ถึงแม้จะเป็นเศษเสี้ยววินาที ก็ทำให้ช่วงระยะเวลาที่ลูกธนูอยู่บนสาย เพื่อรับพลังงานจากสายลดลง = ความเร็วลูกก็ลดลง)
เพราะฉะนั้นการตั้ง Brace height ที่เหมาะสม จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ไม่มากไป ไม่น้อยไป (ให้สังเกตว่า ตารางที่แสดงข้างต้น จะเป็นช่วงระยะที่เหมาะสม ไม่ได้เจาะจงแน่นอนว่าต้องกี่นิ้วเปะ) ต้องหาระยะที่เหมาะกับคันของตัวเอง
ตั้งค่า Tillers
Tiller คืออะไร?
Tiller เป็นระยะห่าง ระหว่างสายกับโคน Limbs ทั้งบน-ล่าง (บริเวณที่ติดกับ Riser ตรง Limbs Pockets)
ในการยิงธนู Limbs ทั้งสองจะต้องทำงานในลักษณะสัมพันธ์กัน เนื่องด้วยคันธนู Recurve ผู้ยิงจะใช้นิ้ว 3 นิ้ว ในการน้าวสาย 1 นิ้ว อยู่เหนือ 2 นิ้ว อยู่ใต้ลูกธนู นั่นหมายถึงว่า ในขณะน้าวสาย Limb ล่างจะรับแรงเค้นมากกว่า Limb บนอยู่ (เพราะแรงดึงของนิ้วที่มากกว่าอยู่ 1 นิ้ว)
บริษัทผู้ผลิตธนูที่มีชื่อเสียง คำนึงถึงเหตุผลนี้ จึงได้ผลิต Limbs เป็นคู่ๆ โดยผลิตให้ Limb อันไหนใช้เป็นตัวบนหรือตัวล่างอย่างชัดเจน ไม่ควรสลับกัน Limbs ทั้งสองจะต้องทำงานได้พอๆ กัน พร้อมๆ กันเมื่อปล่อยสาย ไม่เช่นนั้นถ้า Limb ใด Limb หนึ่งให้พลังงานหรือสปีดเร็วกว่าอีกอัน ผลการยิงก็จะไม่เสถียร เพราะฉะนั้น ที่เราต้องการตั้งก็คือ ระยะ Tiller ของ Limb บน ควรจะต้องมากกว่าระยะ Tiller ของ Limb ล่างอยู่ 1/4″ หรือ 0.5 ซม. เพื่อให้ Limb บนให้รับแรงเค้นมากกว่า Limb ล่าง ซึ่งจะชดเชยกันในจังหวะน้าวสาย
วิธีวัด ก็คล้ายกับ การวัด Brace height แต่เราจะใช้ T-Square วัดระยะที่บริเวณ โคน Limbs บน (ตรงจุด A) บริเวณที่ติดกับ Riser ตรง Limbs pocket
และเทียบกับด้านล่าง (ตรงจุด B) ระยะเท่าไหร่ก็ตาม Limb บนต้องมากกว่าล่าง อยู่ 1/4″ หรือ 0.5 ซม.
ติด Rest
Rest มีวางจำหน่ายให้เลือกในท้องตลาด อยู่มากมาย หลายยี่ห้อ หลายวัสดุ หลายราคา แต่ Rest สำหรับคัน Recurve เท่าที่เห็นจะไม่หนีจาก ใน 3 แบบ ดังต่อไปนี้
1. Basic Rest ทำด้วยพลาสติก น้ำหนักเบา ราคาถูก ประสิทธิภาพดีสมราคา เสียก็เปลี่ยนใหม่ได้ง่าย เพียงลอกสติกเกอร์ด้านหลังแล้วก็ติดลงไปที่คันได้เลย
2. Flip Rest หรือ Flipper Rest มักทำด้วยอลูมิเนียม ราคาปานกลาง จุดสัมผัสกับหางลูกธนูจะสัมผัสน้อยกว่าแบบ Basic Rest เพราะก้านตัวพักลูกจะพับตามลูกธนูที่พุ่งชนผ่าน และคืนกลับตำแหน่งเดิมด้วยสปริง
3. Magnetic Rest จะคล้ายกับ Flipper Rest แต่พัฒนาโดยให้มีแม่เหล็กเป็นตัวดูดให้ก้านตัวพักลูก คืนกลับตำแหน่งเดิมโดยใช้แรงจากแม่เหล็ก หางลูกธนูก็พุ่งชนผ่านจุดสัมผัสไปได้อย่างนุ่มนวลกว่า ทั้งสองแบบข้างต้น แต่แน่นอนราคาจะสูงกว่า บางแบบก็ออกแบบมาให้ปรับระยะขึ้น-ลง ซ้าย-ขวา เพื่อให้ง่ายต่อการปรับตั้งจุดสัมผัสของลูกธนูกับ Plunger
Rest ที่เราจะติดตั้งลงบนคันธนู จะต้องติดตั้งให้หันไปถูกด้าน คันธนูสำหรับคนถนัดขวา กับคนถนัดซ้ายจะกลับข้างกัน (รูปที่ แสดงข้างบน เป็นแบบใช้กับคันธนูสำหรับคนถนัดขวา)
สำหรับ Flipper Rest และ Magnetic Rest ควรปรับแต่งโดยอย่าให้ก้าน Rest ยาวเกินลูกธนู ออกมามากเกินไป อาจจะประมาณ สัก 1 มม. ก็เพียงพอแล้ว
ติด Nocking Point
Nocking Point คือจุดที่ Nock ของลูกธนูจะหนีบติดอยู่กับสาย เราจะกำหนดให้อยู่ในตำแหน่งเดิมทุกครั้ง โดยการทำ Nocking Point เอาไว้
ตำแหน่งที่จะติด Nocking Point บนสาย จะอยู่ตำแหน่งประมาณ 3 – 10 มม. สูงกว่าแนวระนาบตั้งฉาก กับจุดที่ลูกธนูสัมผัสกับ Rest (ดูรูปประกอบ)
หมายเหตุ ตำแหน่งนี้เป็นเพียง Nocking Point แบบชั่วคราว ใช้เป็นจุดเริ่มต้นอ้างอิงเท่านั้นครับ สังเกตนะครับ ว่าเป็นช่วงระยะ ไม่ใช่ตำแหน่งเปะๆ เพราะในขั้นตอน จูนนิ่งที่ละเอียดขึ้น อาจจะต้องปรับ Nocking Point ให้ขยับขึ้นสูง หรือลงต่ำกว่านี้ (ซึ่งจะเป็นผลสัมพันธ์จากความแข็ง-อ่อนของลูกธนูที่เราใช้ กับน้ำหนักน้าวสายของธนู Draw Weight ในขั้นตอนการจูน ปรับ/ตั้ง คันต่อไป)
วัสดุที่จะมาทำเป็น Nocking Point ในขั้นตอนนี้อยากจะให้ใช้เป็นแบบที่สามารถขยับขึ้น-ลงได้ตามที่ต้องการ อาจจะมัดด้วยเชือกด้ายเป็นปมให้แน่พอสมควร และพอจะคลายปรับขยับได้ (แต่ก็ไม่ใช่หลวมจนขยับเคลื่อนตำแหน่งเลื่อนขึ้นลงไปได้เองเวลายิง)
สำหรับ Nocking Point แบบถาวร หลังจากที่เราตำแหน่งที่เหมาะสมกับน้ำหนักน้าวสาย (Draw Weight) แล้ว เราอาจจะพันด้วย สาย Serving, ไหมขัดฟัน (Dental Floss) หรืออาจจะใช้กระดาษกาว (Masking tape) พันให้เป็นปมแล้วหยอดด้วยกาวช้าง Super Glue (Cyanoacrylate) ทิ้งไว้ให้แห้งสนิทดี บ้างก็อาจจะใช้ Nocking Point ทองเหลืองหนีบติดกับสายเลย
ใส่ Plunger
Plunger หรือ Pressure Point หรือ Pressure Button คืออะไร?
เป็นตัวสปริงปรับความสมดุลของลูกธนูที่พุ่งออกไปในแนวระนาบ (โดยจะบังคับทิศทาง ซ้าย-ขวา)
Plunger อยู่ตรงไหน?
Plunger จะหมุนติดอยู่ตำแหน่งเดียวกับ Rest
Plunger มีความสำคัญมากสำหรับธนูที่ปล่อยสายด้วยนิ้ว (Finger Shooting) โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการยิงธนู Recurve ซึ่งเป็นการปล่อยสายด้วยนิ้ว
เนื่องมาจากการปล่อยสายวิธีนี้ เป็นการทำให้ลูกธนูที่พุ่งออกไปจะเคลื่อนไหวลักษณะ Horizontal Bending สายธนูจะหลุดอ้อมปลายนิ้ว ออกไปทางซ้ายก่อน (คนที่น้าวสายยิงด้วยมือขวา) ปลายหางลูกธนู (Nock ที่ติดอยู่กับสาย) ก็ถูกสายบังคับให้ตามสาย ไปทางซ้ายด้วย บวกกับแรงดีดส่งจากสาย ลูกธนูจะเกิดการงอตัว หัวลูก (Arrow Point) ก็จะถูกบังคับหันออกไปทางซ้ายด้วยเช่นกัน ดังนั้นด้านขวาของลูกธนูบริเวณที่วางอยู่บน Rest ถูกแรงงอตัวเป็นจุดสัมผัสกดลงไปตรง Plunger
Plunger ส่วนใหญ่ที่ขายกันอยู่ในตลาด จะให้สปริงมาด้วย 3 ขนาดความแข็ง แนะนำให้ใช้ความแข็งขนาดกลางก่อน
ในขั้นตอน เซ็ทอัพเบื้องต้นนี้ ผมจะไม่ขอลงในรายละเอียดมากนัก เพียงให้แค่ปรับระยะ Plunger เพื่อให้ตำแหน่งของหัวลูกธนู อยู่อย่างในรูปภาพประกอบ ข้างล่างนี้ก่อน (การปรับ Plunger ในขั้นปรับตั้ง / จูนนิ่ง จะมีรายละเอียดมาก ขอเอาไปลงในขั้นตอนนั้นทีเดียว เพราะถือเป็นหัวใจของการจูนนิ่ง)
หาที่แขวนคันธนู หรือวางพาดไว้กับเก้าอี้ ให้อยู่ในแนวตั้งนิ่งๆ เพื่อที่เราจะสามารถเล็งผ่านสายธนูที่แขวนอยู่ได้สะดวก (ไม่ต้องน้าวสาย หรือต้องไม่มีแรงกดใดใดลงไปบริเวณ Limbs ทั้งสอง) เล็งให้สายอยู่ในแนวกึ่งกลางของ Limbs ทั้งบน-ล่าง และ กึ่งกลาง Riser ธนู เพียงปรับหมุน Plunger จุดสัมผัสลูกธนูก็จะเลื่อนเข้า-ออก ซึ่งจะทำให้ตำแหน่งด้านหัวลูกธนูที่อยู่ด้านหน้าเคลื่อนตามที่เราต้องการ เพียงให้ตั้งตำแหน่งขอบด้านขวาของหัวลูก แตะแนวด้านซ้ายของสายธนู (ดังในรูป) หรือเรียกว่า Outside Center-shot
หมายเหตุ สำหรับคันมือซ้าย จะกลับด้านกัน
เอาละครับ มาถึงตรงนี้ ส่วนประกอบหลักๆ ของคันธนู ด้วยขั้นตอนต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น คันธนูก็อยู่ในสภาพปรับตั้งพื้นฐานเรียบร้อยแล้ว พร้อมยิง ลูกธนูก็พร้อม คนก็พร้อม
ตอนนี้เราเอาธนูมาลองยิงกันเลยไหมครับ อยากรู้จังว่าจะเป็นอย่างไง…