ช่วงที่ผ่านมา ได้มีผู้ให้ความใส่ใจและกังวลใจในเรื่องความปลอดภัยเพิ่มขึ้น มากกว่าเพียงแค่จะมาสนใจว่าวิธีการน้าวสายและยิงธนูทำกันยังไงเท่านั้น การปฏิบัติต่อไปนี้สามารถสร้างความปลอดภัยให้เกิดขึ้นได้ ความกังวลในเรื่องความปลอดภัยนี้มีผลให้ World Archery กำหนดกฎระเบียบในเรื่องนี้ขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ยิงธนูจะปฏิบัติตามในลักษณะที่ปลอดภัยได้อย่างสม่ำเสมอ
มี 2 ส่วนหลักที่ต้องห่วง
- ผู้ยิงน้าวสายคันธนูด้วยเทคนิคใดใดที่มีโอกาสทำให้ลูกธนูพุ่งสูง ข้ามเลยเป้า (เพราะน้าวสูง) หรือถ้าหากลูกธนูถูกยิงออกไปโดยบังเอิญ ลูกมีโอกาสพุ่งหลุดออกไปด้านซ้ายหรือขวาของตำแหน่งเป้าที่กำหนดไว้ (เพราะน้าวสายถ่างมาด้านข้างเกินแนวตรงมากไป) หากเกิดอุบัติเหตุลูกหลุดมือด้วยสาเหตุใด เป็นผลทำให้ลูกธนูหันเห บ่ายเบนหลุดออกจากพื้นที่ปลอดภัยที่กำหนดไว้
- ผู้ยิงน้าวสายหรือยิงคันธนูโดยมีอุปกรณ์ยื่นเกิน ล้ำไปในส่วนของผู้ยิงคนอื่น ยกตัวอย่างเช่น ในขณะน้าวสาย หรือปล่อยสายยิง Stabilizer หรือ คันธนู ของผู้ยิง ล้ำไปในพื้นที่ช่องยิงของผู้ยิงท่านอื่นที่ยืนติดกันในช่องถัดไป การกระทำเช่นนี้สามารถทำให้ผู้ยิงท่านอื่น วอกแวก และเสียสมาธิ ซึ่งย่อมมีผลกับความปลอดภัยของการยิง
โค้ช, ผู้ฝึกสอน, หรือเจ้าหน้าที่ของชมรมฯ ต้องหมั่นใส่ใจดูแลเรื่องนี้ตั้งแต่ขณะฝึกซ้อม เพื่อให้มั่นใจว่าลูกธนูทุกลูกของผู้ยิงจะถูกยิงออกไปในลักษณะที่ถูกต้อง และไม่สุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัย จนก่อให้เกิดภัย บาดเจ็บแก่ผู้หนึ่งผู้ใด.
สาเหตุความเสี่ยงที่จะเกิดอันตราย
- ผู้ยิงได้รับคำแนะนำในการสอนมาไม่เพียงพอ และผู้สอนไม่ได้ใส่ใจสอนเรื่องความปลอดภัย
- ผู้ยิงใช้เทคนิคในการยิงธนูที่ไม่ถูกต้อง
- สาเหตุที่พบบ่อย ผู้ยิงยิงคันธนูที่มีน้ำหนักน้าวสายหนักเกินความสามารถของตัวเอง
จะมีกระบวนการไหนที่ โค้ช, ผู้ฝึกสอน, เจ้าหน้าที่ของชมรมฯ, หรือกรรมการผู้ตัดสินผู้ตัดสิน ใช้เพื่อแก้ไข เรื่องความปลอดภัยนี้
เมื่อสังเกตเห็นว่าผู้ยิงกำลังยิงธนูด้วยลักษณะท่าทางที่ดูเหมือนจะสุ่มเสี่ยง (หรือแม้ อาจจะได้รับคำร้องเรียนจากผู้ยิงธนูท่านอื่น) คุณควรหาทางพิสูจน์ให้แน่ชัดกับผู้ยิงท่านนั้น ว่าเขากำลังยิงในลักษณะท่าทางที่ไม่ปลอดภัยจริงหรือไม่
ยกตัวอย่างเช่น ผู้ยิงอาจจะดูเหมือนเล็งคันขึ้นสูง แต่ปรากฏว่าเขากำลังยิงด้วยธนูที่มีน้ำหนักน้าวสายเบา ซึ่งเป็นผลให้เขาต้องเล็งสูงเพื่อที่จะยิงให้ถึงระยะ
ในกรณีนี้ไม่ถือว่าเป็นการสุ่มเสี่ยงในเรื่องความปลอดภัย
ข้อควรระวังคือ ระยะที่เขากำลังยิง (เพื่อยิงระยะ 70 เมตร ธนูย่อมต้องเงยสูงมากกว่ายิงที่ระยะ 30 เมตร).
HIGH DRAW น้าวสูง
ผู้ยิงยกคันเอียงขึ้นสูงขณะน้าวสายจะทำให้ลูกธนูเชิดไปในมุมองศาเกินแนวระนาบที่ขนานกับพื้น หรือเชิดเงยออกนอกแนวเป้า ในลักษณะนี้ ถ้าเกิดลูกธนูถูกยิงหลุดออกจากมือไปโดยไม่ตั้งใจเป็นอุบัติเหตุ ลูกจะพุ่งสูงข้ามเป้า ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะออกนอกพื้นที่ปลอดภัยและเป็นอันตรายได้
ถึงแม้ในสนามยิงธนูบางที่ที่มีพื้นที่เพียงพอจะเผื่อพื้นที่ด้านหลังไว้ในกรณีที่เกิดความผิดพลาด หากแต่การยิงธนูโดยยกคันเอียงขึ้นสูง ในลักษณะดังกล่าว ควรได้รับการแก้ไขโดยทันที การตักเตือน การฝึกสอน และอบรมเทคนิคการยิงในท่าที่ปลอดภัย อย่างถูกวิธี.
ทำไมการน้าวสูงมีผลกับความปลอดภัย?
มีการสาธิตโดย World Archery แสดงให้เห็นถึงผลของภัยจากการ ‘น้าวสูง’
คันธนูถูกน้าวสายจนเกือบถึงช่วงน้ำหนักน้าวสูงสุดของคัน และถูกปล่อยยิงในมุมเงยต่างๆ กัน เพื่อเป็นการทดลองสาธิตให้เห็นว่าลูกธนูจะพุ่งออกไปได้ไกลแค่ไหน.

สภาพอากาศขณะทดสอบ : ไม่มีเมฆ, มีแดด, ลม 6 นอต
ผู้ยิง : สูง 6ฟุต 2”
คันธนู : Hoyt Pro Comp Elite
น้ำหนักน้าวสายที่วัดได้ : 57.9# น้ำหนักน้าวสูงสุด
ลูกธนู : Navigator 430, ความยาวลูก 30.75”, หัวลูกหนัก 120 เกรน, ขนาดปีกลูก 2”
ทดสอบ #1 – มุม 5 องศา, ระยะ 90 เมตร
ทดสอบ #2 – มุม 6 องศา, ระยะ 113.50 เมตร
ทดสอบ #3 – มุม 10 องศา, ระยะ 147.40 เมตร
ทดสอบ #4 – มุม 15 องศา, ระยะ 204.00 เมตร
ทดสอบ #5 – มุม 20 องศา, ระยะ 259.00 เมตร
ทดสอบ #6 – มุม 25 องศา, ระยะ 305.00 เมตร
ตัวอย่างให้เห็นถึงการน้าวสูง



DRAWING OUT OF LINE น้าวออกนอกแนวเป้า
การน้าวสายหรือผลสืบเนื่องจากการน้าวสายปล่อยยิงลักษณะนี้ อุปกรณ์ธนูของผู้ยิงหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายผู้ยิงอาจล้ำช่องยิงไปถูกตัวหรือเกี่ยว กระแทกผู้ยิงท่านอื่นที่ยืนอยู่ในช่องถัดไป เป็นผลให้เขาเสียสมาธิ
ประเด็นนี้อาจเป็นปัญหาใหญ่ได้ถ้าหากผู้ยิงนี้ยิงอยู่ในช่องยิงสุดท้าย หรือช่องยิงที่ถัดจากช่องยิงสุดท้าย และผลจากการน้าวสายในลักษณะดังกล่าวอาจเกิดการยิงหลุด ลูกธนูพุ่งออกจากสนามเข้าไปในพื้นที่ด้านข้างที่กำหนดไว้เป็นพื้นที่ของผู้ชม
แม้กระทั่งผู้ยิงจะยืนอยู่ในตำแหน่งช่วงกลางของสนาม ถ้ามีการน้าวสายในลักษณะที่ไม่ปลอดภัยอย่างนี้ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างฝึกซ้อม หรือระหว่างแข่งขัน ผู้ยิงต้องได้รับการตักเตือนและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผู้ตัดสินน้าวสาย โดยทันที


ตัวอย่างให้เห็นถึงการน้าวออกนอกแนวเป้า

ภาพที่ 1 – ผู้ยิงที่ยืนอยู่ด้านซ้ายถูกกำหนดให้ยิงหน้าเป้าที่ 35 แต่ลักษณะการน้าวสายเบี่ยงไปหน้าเป้าที่ 27 ซึ่งอยู่ห่างออกไปอีก 8 ช่องยิง ประมาณมุม 27 องศาจากแนวเป้าของตนเอง
ในลักษณะดังกล่าว หากคำนวณตามความกว้างของช่องยิงแต่ละช่อง เท่ากับระยะเบี่ยงออกจากเป้าตนเอง 20 เมตร

ภาพที่ 2 – บางส่วนของอุปกรณ์ธนู ยังรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ / ช่องยิงของนักธนูท่านอื่นที่กำลังทำการยิงอยู่ในช่องถัดไป นับตั้งแต่การน้าวสายยิง และ Follow Through จบการปล่อยสาย
เส้นสีแดงแสดงให้เห็นถึงแนวเส้นทึบขาวที่ถูกกำหนดไว้เพื่อแบ่งช่องยิงบนสนาม จะเห็นได้ชัดว่าช่วงจังหวะปล่อยสายยิงส่วนของอุปกรณ์ธนูของผู้ยิงรุกล้ำเข้าไปในช่องยิงของนักธนูที่ยืนติดกันในช่องถัดไป โชคดีที่จังหวะนั้นผู้ยิงด้านซ้ายมือ กำลังน็อคลูกธนูกับสายของตนเอง ถ้าหากบังเอิญผู้ยิงด้านซ้ายมืออยู่ในจังหวะน้าวสายเต็มระยะและหากมีการรุกล้ำเข้าในช่องยิง ย่อมถูกทำให้เสียสมาธิแน่
ในกรณีที่เป็นการแข่ง Field Archery

World Archery มีกฎพิเศษที่เกี่ยวข้องกับการน้าวสายคันธนูเมื่อยิงแข่ง Field Archery
28.5 ขณะที่ผู้ยิงคนใดน้าวสายคันธนู จะต้องไม่ใช้เทคนิคใด ที่ในความเห็นของกรรมการผู้ตัดสินพิจารณาว่า หากเกิดอุบัติเหตุ ลั่น หรือ ถูกปล่อยออกไป จะส่งผลให้ลูกธนูพุ่งข้ามแนวเขตพื้นที่ปลอดภัย หรือเกินออกจากพื้นที่ใดใดที่ผู้จัดได้จัดเตรียมไว้เป็นแนวป้องกันเพื่อความปลอดภัย (เช่น พื้นที่ด้านหลัง, ตาข่าย, กำแพง, ฯลฯ)
ถ้าหากนักกีฬาคนดังกล่าวยังคงขืน ยืนกรานว่าจะใช้วิธีหรือเทคนิคเดิมในการน้าวสายคันธนู ด้วยเหตุผลในเรื่องของความปลอดภัย ประธานผู้จัด หรือกรรมการผู้ตัดสินผู้ตัดสิน หรือ ผู้อำนวยการยิง สามารถสั่งระงับไม่อนุญาตให้นักกีฬาผู้นั้นยิงโดยทันทีและต้องออกจากสนามไป
ผู้ยิงต้องเล็งคันแล้วค่อยน้าวสายไปยังตำแหน่งเป้าที่กำหนดเท่านั้น
DOWN HILL SHOTS การยิงเป้าในตำแหน่งมุมกด

โดยเฉพาะการยิง Down hill หรือการยิงเป้าในตำแหน่งมุมกด ด้วยความกังวลเรื่องความปลอดภัย World Archery ได้มีกฎเฉพาะเจาะจงให้ผู้ยิงจะต้องเล็งคันแล้วค่อยน้าวสายไปยังตำแหน่งเป้าเท่านั้น
ไม่อนุญาตให้ผู้ยิงน้าวคันสูงแล้วค่อยลดคันธนูมาเพื่อเล็งเป้า ผู้ยิงจะต้องน้าวสายในขณะที่ถือคันธนูเล็งไปที่เป้าเท่านั้น
เรียบเรียงจากบทความของ Archery Australia